โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,076,774.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 161,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 สิงหาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 สิงหาคม 2563) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถบรรทุกสิบล้อยี่ห้ออีซูซุและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์จากโจทก์ในราคา 4,952,831 บาท ซึ่งเป็นราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือนรวม 46 งวด กำหนดชำระทุกวันที่ 16 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 16 มีนาคม 2557 ภายหลังทำสัญญาจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรก จำเลยจึงทำบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อ ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2557 โดยตกลงชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ 4,610,497.01 บาท ซึ่งเป็นราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือนรวม 45 งวด กำหนดชำระทุกวันที่ 30 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 30 เมษายน 2557 ภายหลังจากทำบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อ จำเลยยังคงไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกเป็นต้นไปเป็นเวลา 3 งวดติดต่อกัน โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 โจทก์ติดตามรถบรรทุกสิบล้อที่เช่าซื้อคืนจากจำเลย และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 โจทก์ได้รับรถหางพ่วงกลับคืนมา โดยรถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงมีสภาพชำรุดทรุดโทรม โจทก์นำรถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงออกขายทอดตลาดได้เงิน 2,485,046.73 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าขาดราคา เบี้ยปรับ ค่าติดตามรถบรรทุกที่เช่าซื้อ กับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถบรรทุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคกำหนดให้แก่โจทก์เหมาะสมหรือไม่ เพียงใด ในการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบ และความรับผิดในค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดราคา เบี้ยปรับ กับค่าติดตามรถบรรทุกที่เช่าซื้อขึ้นวินิจฉัยเป็นประการแรก เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง คู่สัญญาจึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ซึ่งกันและกันหรือต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยโจทก์คู่สัญญาฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีให้แก่จำเลย รวมไปถึงดำเนินการอันจำเป็นให้รถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าซื้อสามารถจดทะเบียนรถยนต์ได้อย่างถูกต้องเพื่อให้จำเลยครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญาและชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของจำเลยผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมมีหน้าที่ชำระค่าเช่าซื้อตอบแทนแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์เพียงส่งมอบรถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์ให้จำเลยครอบครองใช้สอยตามสัญญาเท่านั้น แต่โจทก์มิได้จดทะเบียนรถหรือดำเนินการใดเพื่อให้จำเลยจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อต่อกรมการขนส่งทางบกได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 อันเป็นวันทำสัญญาเช่าซื้อ จนกระทั่งถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับมอบรถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์กลับคืนมาจากจำเลยตามลำดับเป็นระยะเวลานานเกือบ 1 ปี จนเป็นที่มาแห่งข้อโต้เถียงปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่าซื้อของจำเลยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งมอบรถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จำเลยทวงถามให้จดทะเบียนหลายครั้ง แต่โจทก์ยังคงเพิกเฉยทำให้ในระหว่างที่จำเลยนำรถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์ไปใช้ขนส่งอ้อยขายให้แก่บริษัท น. จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและเปรียบเทียบปรับอยู่เนืองนิตย์ ข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าวต้องถือว่า โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน โดยโจทก์ไม่อาจอาศัยความคิดเห็นของโจทก์ในเรื่องที่จำเลยรับมอบรถบรรทุกไว้ใช้สอย มาสรุปว่าจำเลยไม่ถือเหตุแห่งการจดทะเบียนรถบรรทุกเป็นข้อสำคัญเพื่ออ้างว่าตนมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาได้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยชอบที่จะบ่ายเบี่ยงไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 โดยไม่ถือว่าจำเลยผิดนัด และโจทก์ผู้ผิดสัญญาไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้เลิกกันตามที่โจทก์บอกเลิกสัญญา แต่เลิกกันโดยปริยายจากการที่โจทก์ติดตามทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยและจำเลยมิได้โต้แย้งดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เมื่อเหตุแห่งการสิ้นสุดของสัญญาสืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์ที่มิได้ดำเนินการใดเพื่อให้จำเลยจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อต่อกรมการขนส่งทางบก ทั้งยังได้ความจากนางประนมพร พยานโจทก์อีกว่า โจทก์จะต้องส่งเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลย แต่เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสูญหายไปทำให้รถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์ยังมิได้จดทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมาย การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพิกเฉยต่อการจดทะเบียนรถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ว่า ตามปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมา ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถบรรทุกหรือรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์โดยทั่วไปจะถือว่าตนมีหน้าที่เพียงส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้ผู้เช่าซื้อใช้ประโยชน์เท่านั้น ส่วนการดำเนินการทางทะเบียนและเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนของรถยนต์ซึ่งตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จะมีอยู่และต้องจัดการเป็นอย่างไร มิใช่ข้อสลักสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงดังเช่นที่โจทก์ปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาประกอบกับเอกสารต่าง ๆ ของสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ทำไว้กับผู้บริโภครายอื่นยังมีเอกสารสูญหายอีกจำนวนมากจนโจทก์ต้องไปลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานับว่าการประกอบธุรกิจของโจทก์มีความย่อหย่อนมิได้กระทำไปด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยาย กับทั้งโจทก์มีพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคา เบี้ยปรับและค่าติดตามรถบรรทุกที่เช่าซื้อแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับค่าเสียหายประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับค่าเสียหายประการสุดท้ายว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถบรรทุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคกำหนดให้แก่โจทก์เหมาะสมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการนำรถบรรทุกสิบล้อและรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าซื้อออกให้บุคคลอื่นเช่าในอัตราเดือนละ 107,000 บาท ในช่วงเวลาที่จำเลยครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนถึงวันที่โจทก์ได้รับทรัพย์สินดังกล่าวคืนเป็นเงิน 856,000 บาท ที่โจทก์เรียกร้องและยกขึ้นฎีกาว่าเป็นจำนวนพอสมควรแก่ความเสียหายของโจทก์ เป็นค่าเสียหายที่โจทก์คาดคิดเองโดยไม่มีเอกสารหลักฐานมาสนับสนุนว่า โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกให้บุคคลใดเช่าและได้รับค่าเช่าในอัตราที่กล่าวอ้างทุกเดือน เมื่อโจทก์ไม่อาจนำสืบให้เห็นถึงค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องกันกับศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้เต็มตามคำขอของโจทก์ แต่กำหนดให้แก่โจทก์เป็นเงิน 161,000 บาท จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ