โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางปรียา วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดคณิกาผล ถูกร้องเรียนว่ายักยอกเอาเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวน และได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จำเลยได้รับมอบหมายให้รักษาการแทนโจทก์ร่วม ในการเบิกจ่ายเงินเดือนจำเลยจะนำเงินที่รับจากงานคลังเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายไปเข้าบัญชีที่ธนาคาร เพื่อให้ครูของโรงเรียนเบิก แต่ครูต้องลงชื่อในหลักฐานการจ่ายเงินเดือนด้วย โจทก์ร่วมไม่ยอมลงชื่อในหลักฐานดังกล่าว สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายถือว่าเงินเดือนของโจทก์ร่วมไม่มีผู้รับต้องส่งคืน จำเลยจึงทำหนังสือสั่งธนาคารดังกล่าวระงับการจ่ายเงินเดือนโจทก์ร่วม และอธิบายเหตุผลแก่นายพิษณุพร อุทกภาชน์ ผู้ช่วยสมุห์บัญชีของธนาคารดังกล่าวว่า "ยักยอก ตามตัวไม่พบ" คำพูดของจำเลยดังกล่าวมีความหมายให้เข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการ ดังนั้นคำพูดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความเป็นโจทก์ร่วมโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกล่าวโดยเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยกล่าวออกไปแม้จะโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำว่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังทั้งปรากฏว่าสาเหตุที่มีการสั่งจ่ายระงับการจ่ายเงินเดือนก็เพราะโจทก์ร่วมไม่ยอมลงลายมือชื่อในหลักฐานการจ่ายเงินเดือนหาใช่เพราะโจทก์ร่วมยักยอกและตามตัวไม่พบไม่ ทั้งจำเลยกับโจทก์ร่วมมีสาเหตุขัดแย้งและไม่พอใจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการกันอยู่ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากล่าวถ้อยคำตามฟ้องโดยเจตนาใส่ความโจทก์ร่วมทั้งถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นความเท็จ เพราะจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างถูกผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และได้สั่งให้โจทก์ร่วมไปช่วยราชการที่กองวิชาการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร หาใช่ว่าคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วและลงความเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยและโจทก์ร่วมหลบหนีไปแต่อย่างใดไม่ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต
อนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2535 และโดยที่มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ยกเลิกความในมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และบัญญัติใหม่ว่า "ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงถือว่าพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวแตกต่างและมิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดเพราะมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำผิดบัญญัติว่า ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นคดีนี้จึงต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 เดิม ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30