คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 352 ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้าน นาย ณ. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่คัดค้านขอให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาท่านอื่นเข้ารับผิดชอบสำนวนคดีนี้แทน ได้ระบุความเพียงว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยมีข้อพิพาทกันทางธุรกิจมีความไม่เข้าใจกันเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องหนี้สินทางแพ่ง จำเลยมีความไม่สบายใจที่ท่านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนต้องเป็นภาระไกล่เกลี่ยในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างโจทก์และจำเลย จำเลยทำคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาฉบับนี้เพื่อปกป้องเกียรติยศของ นาย ณ. เหตุการณ์ต่าง ๆ และบรรยากาศที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่นัดแรกที่ นาย ณ. เข้ามารับผิดชอบสำนวน มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้จำเลยเห็นว่าเข้าองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11(1) และมาตรา 12 กล่าวคือ ในการพิจารณาคดีนัดสืบพยาน วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 และวันที่ 30 มีนาคม 2563 ท่านผู้พิพากษาที่จำเลยคัดค้านได้กล่าวข้อความถ้อยคำหลายประการและปฏิบัติตนในระหว่างการพิจารณาคดีหลายประการ และการสั่งคดีของท่านในเรื่องประเด็นสำคัญ อันเป็นเหตุผลที่จำเลยต้องยื่นคำร้องคัดค้านท่าน รายละเอียดจำเลยขอนำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องนี้ และเป็นการหลีกเลี่ยงไม่เขียนข้อความในคำร้องนี้เพื่อกระทบต่อจิตสำนึกในการเคารพผู้พิพากษาของจำเลย จำเลยมีความลำบากใจในการที่จะเดินทางมาศาลเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ เหตุผลเพราะบรรยากาศการดำเนินคดีดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งและเกรงว่าจะเกิดขึ้นอีก จำเลยเชื่อว่าหากมีผู้พิพากษาท่านอื่นที่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลจริยธรรมเข้ามาทำหน้าที่ในสำนวนคดีนี้ก็จะทำให้การดำเนินคดีนี้เกิดความยุติธรรมกับคู่ความทั้งสองฝ่าย ดังนี้ คำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ได้แสดงรายละเอียดโดยแจ้งชัดพอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่า นาย ณ. มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนี้อย่างไรหรือมีเหตุการณ์อื่นอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไปอย่างไร อันเป็นเหตุตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 (1) และมาตรา 12 ได้บัญญัติไว้เพื่อคัดค้านผู้พิพากษา แม้จำเลยจะกล่าวอ้างในคำร้องต่อไปว่า รายละเอียดจำเลยที่ 1 ขอนำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องนี้และเป็นการหลีกเลี่ยงไม่เขียนข้อความในคำร้องนี้เพื่อกระทบต่อจิตสำนึกในการเคารพผู้พิพากษาของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อคำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่มีรายละเอียดในเบื้องต้นว่ามีเหตุที่จะคัดค้านผู้พิพากษาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 (1) และมาตรา 12 ได้บัญญัติไว้อย่างไรเสียแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องทำการไต่สวนพยานหลักฐานว่า มีข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำร้องหรือไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 จะขอนำสืบรายละเอียดในชั้นไต่สวนคำร้องนั้นก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้อ้างไว้ในคำร้อง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ปรากฏเหตุตามกฎหมายที่จะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ในชั้นนี้ให้ยกคำร้องนั้นเป็นการชอบแล้ว และคำสั่งเช่นว่านี้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 14 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุด จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการชอบแล้วเช่นเดียวกัน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน