โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,265,422.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,192,180.88 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1343 ตำบลหนองม่วง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379ได้หรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 2 ระบุว่า"ผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป และในวันทำสัญญาดังกล่าว ผู้ให้กู้ได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ เอ็ม โอ อาร์ บวก2.5 ต่อปี... ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดโดยที่ผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบแต่อย่างใด" แสดงว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยจะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แม้เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้วในวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกเอาหนี้ทั้งหมดจากจำเลย หมายความว่าโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราที่ตกลงตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นเพราะกรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้นแล้วและไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยอันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นเบี้ยปรับดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยย่อมมีอยู่ก่อนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเท่านั้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์จะคิดคำนวณเอาจะต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ประกาศใช้ในขณะที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง คือ ในวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2541 เท่านั้น ในอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวกร้อยละ 2.5 ต่อปี หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดคำนวณดอกเบี้ยโดยอาศัยตามประกาศของโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ปรับเปลี่ยนเป็นคราว ๆ ซึ่งเป็นประกาศของโจทก์หลังจากที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้สิ้นสุดไปแล้วดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากจำเลยหลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงเป็นเบี้ยปรับนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,192,180.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราตามประกาศของโจทก์เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ประกาศใช้ในช่วงวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2541 ของต้นเงินดังกล่าวบวกร้อยละ 2.5 ต่อปี (เอ็ม โอ อาร์ บวกร้อยละ2.5 ต่อปี) นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2541 จนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 นับจากวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น