โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 99 ประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กระทงที่ 1 ถึง 21 ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรเป็นเงิน 68,581,588.08 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน รวม 21 กระทง เป็นจำคุก 126 เดือน ความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) กระทงที่ 5 ถึง 21 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 10,000 บาท รวม 17 กระทง เป็นปรับ 170,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 เดือน รวม 17 กระทง เป็นจำคุก 51 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 177 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละ 30 ของค่าปรับในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 วรรคสอง และ 8 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยชำระอากรขาเข้าน้อยลงย่อมทำให้จำเลยทั้งสองเสียภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยลงด้วยเพราะฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าได้แก่มูลค่าของสินค้านำเข้าบวกด้วยอากรขาเข้าตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 79/2 (1) ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/8 กำหนดให้ผู้นำเข้าชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการชำระอากรขาเข้า และตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ กำหนดให้ผู้นำเข้าชำระอากรพร้อมการยื่นใบขนสินค้า ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในวันยื่นใบขนสินค้าซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ครบถ้วนโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) (เดิม) ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาในข้อหานี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานสำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จ มีผลทำให้อากรที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเรียกเก็บน้อยกว่าที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องเสีย และมีผลทำให้ฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงไปด้วย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) อีกกรรมหนึ่งด้วย นั้น เห็นว่า สำหรับความผิดฐานนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และความผิดฐานเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองในการสำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จเพื่อนำเข้าสินค้าเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยลง เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรเป็นหลักเพียงแต่อากรที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระในการนำเข้าสินค้าแต่ละครั้งนั้น มีทั้งอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอากรทั้งสองประเภทดังกล่าวมีฐานในการคำนวณมาจากราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองร่วมกันสำแดงเท็จนั่นเอง อีกทั้งสินค้าที่นำเข้าก็เป็นสินค้าจำนวนเดียวกัน การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และการกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาได้เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 ขาดอายุความนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่ได้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้ จึงไม่เป็นสาระที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และ (11) พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2490” โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 ยังบัญญัติให้ความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 เป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่าพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ศาลฎีกาพิจารณาคดีอันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 เมื่อระวางโทษในความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 จึงเป็นคุณมากกว่า ต้องใช้โทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาบังคับแก่คดี อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ดังกล่าว ก็ต้องกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนที่เป็นคุณมากกว่า
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในความผิดกระทงที่ 1 ถึง 3 จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 ประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในความผิดกระทงที่ 5 ถึง 21 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสีย ให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมกัน 21 กระทง รวมปรับ 905,634 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน รวม 20 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 120 เดือน ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียกระทงที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์