โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6), 78/1 (2), 83/8 และ 83/10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 และสั่งปรับจำเลยเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว (ราคาของรวมอากร 4,506,907,369.90 บาท) จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานและสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยเป็นนิติบุคคลโดยสภาพไม่อาจลงโทษจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับได้ จึงให้ลงโทษปรับจำเลยสถานเดียว โดยให้ปรับจำเลยสามเท่าของอากรที่ต้องเสียเพิ่มจำนวน 57,901,159 บาท เป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 173,703,477 บาท ให้บังคับค่าปรับจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29/1 โดยหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนด ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยเพื่อใช้ค่าปรับ จ่ายสินบนให้แก่ผู้นำจับและจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 ตามกฎหมาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2545 จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบ โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ให้แก่บริษัท ป. ในประเทศไทย ขณะเกิดเหตุสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยในประเทศไทย ตั้งอยู่กรุงเทพมหานคร นายอิน นายมานซุค นายซังวุค นายเจิงคี และนายชางเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทย โดยนายซังวุคเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทย นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2555 และวันที่ 2 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เว้นแต่จะถูกยกเลิกโดยจำเลย และนับแต่วันที่ 26 มกราคม 2559 เป็นต้นไป จำเลยแต่งตั้งนายชางเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการในประเทศไทยแทนนายซังวุคเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทำสัญญารับจ้างก่อสร้างโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ให้แก่บริษัท ป. สัญญาจ้างมีลักษณะแบบเหมาจ่าย (TURNKEY) ซึ่งจำเลยมีภาระในการจัดกิจการทุกอย่างรวมกับการออกแบบด้านวิศวกรรม การจัดหาอุปกรณ์ การก่อสร้าง การติดตั้งอุปกรณ์ การทดสอบ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และค่าภาษีอากรทุกประเภท วงเงินค่าจ้างแบ่งเป็นสกุลเงินต่างประเทศ 190,661,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อ 3.1.1 และสกุลเงินในประเทศ 3,139,040,000 บาท ตามข้อ 3.1.2 ในสัญญาให้แบ่งเป็นงานด้านวิศวกรรมและการฝึกอบรม 27,791,000 ดอลลาร์สหรัฐ อุปกรณ์และวัสดุ 162,174,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าก่อสร้าง 696,000 ดอลลาร์สหรัฐ การจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะจ่ายโดยการโอนเข้าบัญชีของจำเลย ณ สาธารณรัฐเกาหลี ส่วนการจ่ายเป็นสกุลเงินไทยเป็นงานด้านวิศวกรรมและการฝึกอบรม 21,739,000 บาท ค่าอุปกรณ์และวัสดุ 902,148,000 บาท และการก่อสร้าง 2,125,153,000 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 จำเลยขออนุมัติใบขนสินค้าหลายเที่ยวเรือ กรมศุลกากรอนุญาตโดยให้เสียภาษีอากรในพิกัด 8421390 จากนั้นระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2548 จำเลยนำเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 จากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยการขนส่งทางเรือ จำนวน 480 เที่ยวเรือ ขณะผ่านพิธีการศุลกากร จำเลยสำแดงรายการเฉพาะราคาของเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ในพิกัดศุลกากร 8421390 จำเลยไม่ได้สำแดงรายการมูลค่าของการให้บริการด้านวิศวกรรมที่กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักรรวมเข้ากับจำนวนหน่วยของการนำเข้าเที่ยวแรก ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 132 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้และกำหนดราคาศุลกากร ข้อ 11 (4) และประกาศกรมศุลกากรที่ 39/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดสัดส่วนมูลค่าของวัสดุ อุปกรณ์ หรือบริการ วันที่ 22 ธันวาคม 2547 นายสุชาติ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลค่างานตามสัญญาจ้างของจำเลยต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ในส่วนของค่าจ้างตามสัญญา ข้อ 3.1.1 อันเป็นมูลค่างานสกุลเงินต่างประเทศ 190,661,000 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น บริษัท ป. ชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้ว 190,530,409.80 ดอลลาร์สหรัฐ เกี่ยวกับการขอรับการส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 บริษัท ป. ยื่นคำขอรับการส่งเสริมสำหรับกิจการประเภท 7.1.9 โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม 2545 ต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน วันที่ 3 ธันวาคม 2546 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนออกบัตรส่งเสริมให้แก่บริษัท ป. เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประเภท 7.1 กิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐานทำให้ได้รับสิทธิและประโยชน์โดยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามเงื่อนไขที่กำหนด นับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 (วันที่เริ่มนำเข้าได้) ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2549 (วันสิ้นสุดการนำเข้า) หลังจากโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยทำสัญญารับจ้างโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ซึ่งบริษัท ป. ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จากนั้นมีการนำเข้าและขนส่งทางเรือในลักษณะเดียวกับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 แต่มีการสำแดงค่าบริการทางวิศวกรรมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) และประกาศกรมศุลกากร ที่ 39/2543 หลังการนำเข้าของเกี่ยวกับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 เสร็จสิ้นแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการนำเข้าวัตถุอันตรายโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรของจำเลยและรับเป็นคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2550 จึงยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาล ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วออกหมายค้นให้แก่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษนำเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นสำนักงานของจำเลยในวันเดียวกันนั้น ผลการตรวจค้นเจ้าพนักงานตรวจยึดเอกสาร จำนวน 170 แผ่น ไปตรวจสอบ ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2552 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีจำเลยนำสินค้าเพื่อก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติครบชุดสมบูรณ์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน เป็นการสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงอากร โดยราคาที่จำเลยสำแดงราคาขาด 1,158,023,179 บาท ชำระอากรขาด 57,901,159 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มขาด 85,114,704 บาท จากนั้นมีคำสั่งแต่งตั้งและเปลี่ยนแปลงพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง มีการแจ้งสิทธิและข้อหาแก่นายซังวุคเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 และวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ขณะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการในประเทศไทยของจำเลยในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านนายปัญญา ทนายความและล่ามภาษาอังกฤษของนายซังวุคนายซังวุคในฐานะผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของจำเลยในประเทศไทยให้การปฏิเสธ วันที่ 3 มีนาคม 2559 เจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษจับกุมนายซังวุค ตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 8 มกราคม 2559 จากนั้นเจ้าพนักงานปล่อยตัวไปเนื่องจากเห็นว่าขณะจับกุมนายซังวุคมิได้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยในประเทศไทยแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี" ดังนี้ ในชั้นสอบสวนนิติบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา นิติบุคคลไม่อยู่ในสภาพที่จะให้จับกุมได้ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลจำพวกใดจำพวกหนึ่งใน 2 จำพวก มาทำการสอบสวน ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการสอบสวนสามารถดำเนินการแก่นิติบุคคลต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 จำพวกแรก คือ ผู้แทนนิติบุคคล หมายถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นตามกฎหมาย เช่น กรรมการผู้จัดการบริษัท จำพวกที่สอง คือ ผู้จัดการ หมายถึง บุคคลที่เป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคลโดยผ่านทางผู้แทนนิติบุคคลเพื่อดำเนินกิจการตามที่ได้รับมอบหมายภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า พนักงานสอบสวนมีการแจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาแก่นายซังวุคเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 และวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ขณะที่นายซังวุคเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทยของจำเลยในช่วงระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 จนถึงวันที่ 19 มกราคม 2555 ผ่านนายปัญญา ทนายความและล่ามภาษาอังกฤษของนายซังวุคนายซังวุคในฐานะผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของจำเลยในประเทศไทยให้การปฏิเสธ เช่นนี้ แม้นายซังวุคมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย อันจะถือว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคลดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่หนังสือรับรองข้อความที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2556 อันเป็นหนังสือรับรองว่าบริษัทจำเลยได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจบริการก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบ โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ให้แก่บริษัท ป. โดยมีนายซังวุคเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทย นายซังวุคย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้จัดการสำนักงานสาขาของจำเลยในประเทศไทย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนได้ แม้จำเลยจะมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายซังวุคมีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยได้ด้วยก็ตาม เพราะนายซังวุคอยู่ในฐานะผู้จัดการตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 วรรคหนึ่ง แล้ว กระบวนการสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า กระบวนพิจารณาในชั้นสอบคำให้การจำเลย และการพิจารณาสืบพยานในศาลได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยหรือไม่ เห็นว่า กรณีนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย (นิติบุคคลต่างด้าว) เป็นผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย บรรดากรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 16 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งคุณสมบัติประการหนึ่งของคนต่างด้าวตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง (2) คือ มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในเอกสารท้ายคำร้องขอออกหมายจับนายซังวุค ประกอบกับจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงเข้ามาในฎีกาฟังได้ว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้นายชางพำนักอยู่ที่สาธารณรัฐเกาหลี จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 เกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรไทยของนายชางปรากฏว่านายชางออกนอกราชอาณาจักรไทยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2555 ซึ่งจำเลยอ้างข้อเท็จจริงประกอบฎีกาต่อสู้คดีเป็นทำนองว่า นายชางได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวสำหรับการติดต่อและประกอบธุรกิจและการทำงานในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 อันเป็นเวลาก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ นั้น ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าเป็นการตรวจลงตราที่กระทำโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในสาธารณรัฐเกาหลี นายชางมิได้เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความเป็นจริงแต่ประการใด วัตถุประสงค์ของบทกฎหมายในมาตราดังกล่าวเพื่อให้มีผู้รับผิดชอบของนิติบุคคลต่างด้าว หากมีความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการในประเทศไทย จึงไม่อาจตีความตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัดโดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังที่จำเลยอ้าง ดังนี้ เมื่อนายชางมิใช่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยและมิใช่บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองในขณะที่ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย การที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกหนังสือรับรองให้นายชางเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยในประเทศไทย จึงเป็นการผิดหลงในคุณสมบัติของนายชางอันเป็นการออกหนังสือรับรองโดยไม่ชอบ ด้วยเหตุผลข้างต้นประกอบพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่า นายซังวุคยังคงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยในประเทศไทยในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลจำเลยต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ไม่ถือว่าอำนาจของนายซังวุคในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลต่างด้าวของจำเลยถูกยกเลิกเพิกถอนตามข้อยกเว้นที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านอธิบายฟ้องและสอบคำให้การนายซังวุคก็ดี การพิจารณาสืบพยานในศาลชั้นต้นได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้านายซังวุคก็ดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 และมาตรา 172 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า พยานเอกสารที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มาจากการตรวจค้นและยึดจากจำเลย สามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า แม้เอกสารการนำเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยสัญญาระหว่างจำเลยกับบริษัท ป. และใบขนสินค้าขาเข้า 480 ฉบับ เป็นเอกสารส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการตรวจยึดในการค้นครั้งดังกล่าว และพยานโจทก์ปากเดียวกันนี้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในข้อหานำเข้าสารเคมีอันเป็นวัตถุอันตราย แต่เอกสารที่ยึดมาชุดเดียวกันนั้นเป็นเอกสารที่นำไปสู่การสอบสวนและดำเนินคดีนี้ อันเกิดจากการตรวจค้นและยึดโดยชอบตามคำสั่งของศาล ทั้งเอกสารดังกล่าวสามารถตรวจสอบความมีอยู่และความถูกต้องได้จากหน่วยงานของรัฐ คือ กรมศุลกากรและบริษัท ป. ได้อีกทางหนึ่งอยู่แล้ว แม้ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวนจนนำไปสู่การออกหมายค้นจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่หากตรวจพบข้อเท็จจริงในภายหลังจากเอกสารที่ยึดนั้นเองว่าอาจมีการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากร พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีต่อไปได้ หาใช่พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบแต่อย่างใดไม่ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งและไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์ นั้น เห็นว่า จำเลยยกประเด็นดังกล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์ โดยกล่าวอ้างว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้แสดงเหตุผล ยกข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงหักล้างคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ทั้งโจทก์มิได้หยิบยกคำเบิกความในชั้นพิจารณามาอธิบายว่ามีน้ำหนักให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อความทำนองเดียวกับที่จำเลยฎีกาในประเด็นนี้ โดยจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวว่าวินิจฉัยไม่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยฎีกาของจำเลย สมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) (7) (8) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 (ปัจจุบัน พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243) และความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับลงโทษจำเลยในความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าว ส่วนจำเลยอุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์มาด้วยว่ามิได้กระทำความผิดทั้งสองข้อหาตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 โดยมิได้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) หรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมิได้ให้เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย บทมาตราที่ยกขึ้นปรับ และคำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษในข้อหาดังกล่าวให้ครบถ้วนตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6), (7) และ (8) อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แต่เพื่อมิให้คดีล่าช้า ประกอบกับโจทก์มิได้ยื่นฎีกาจึงไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียเลยทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งสำหรับความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เมื่อนับถึงวันฟ้อง คือ วันที่ 27 เมษายน 2559 จึงพ้นกำหนดสิบปี ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากรหรือไม่ นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในเวลาที่จำเลยกระทำผิดและเป็นกฎหมายที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย กำหนดอัตราโทษว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่ โดยมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่งข้อหาตามบทบัญญัติเดิมนำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 243 กำหนดว่า "ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ..." มาตรา 243 จึงมีอัตราโทษปรับเบาและเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ในปัญหาดังกล่าวนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยผู้นำเข้าเป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ หรือบริการด้านวิศวกรรม การออกแบบ แบบแปลน และภาพร่าง โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ที่กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักร และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตของที่นำเข้านั้น จำเลยจึงอยู่ในบังคับที่ต้องดำเนินพิธีการศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และกฎกระทรวงฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) ข้อ 11 (4) และประกาศกรมศุลกากรที่ 39/2543 โดยต้องนำมูลค่าการให้บริการด้านวิศวกรรม การออกแบบแปลนและภาพโครงร่างการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ซึ่งเป็นค่าการงานที่กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักร และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตของที่นำเข้ามานั้นมารวมไว้ในราคาซื้อขายของที่นำเข้าตามสัดส่วนอย่างเหมาะสม โดยจำเลยต้องนำมูลค่าบริการดังกล่าวนั้นทั้งหมดมารวมเข้ากับจำนวนหน่วยของการนำเข้าเที่ยวแรก และสำแดงรายการแยกไว้ต่างหากจากการนำเข้าด้วย แต่จำเลยหาได้ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นไม่ทำให้ราคาศุลกากรที่แท้จริงที่จำเลยต้องสำแดงขาดจำนวนไป จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าค่าบริการทางวิศวกรรมอันประกอบด้วยค่าการงานด้านวิศวกรรมและการฝึกอบรมจำนวน 27,791,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อการผลิตเครื่องแยกก๊าซธรรมชาติพร้อมอุปกรณ์ของผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักร (Vendor) แต่เป็นแบบแปลนทางวิศวกรรมสำหรับการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จึงไม่จำต้องนำมาสำแดงรวมในราคาของเครื่องแยกก๊าซธรรมชาติพร้อมอุปกรณ์ของผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรเพื่อเสียภาษีอากรอีกเพราะเป็นคนละส่วนกัน เห็นว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) เป็นกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสอง (2) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้และการกำหนดราคาศุลกากร ในข้อ 11 กำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อเป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์หรือบริการดังต่อไปนี้ เพื่อใช้ในการผลิตและการขายเพื่อส่งออกของที่นำเข้าไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นำมูลค่าของวัสดุ อุปกรณ์หรือบริการดังกล่าวมารวมไว้ในราคาซื้อขายของที่นำเข้าตามข้อ 8 ตามสัดส่วนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
(1) ...ฯลฯ...
(4) การให้บริการด้านวิศวกรรม พัฒนาการ งานศิลป์ การออกแบบ แบบแปลน และภาพร่างที่กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักรและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตของที่นำเข้า"
ส่วนประกาศกรมศุลกากรที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนดตามกฎกระทรวง ข้อ 11 คือ ประกาศกรมศุลกากร ที่ 39/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดสัดส่วนมูลค่าของวัสดุ อุปกรณ์หรือบริการ ซึ่งมีความในข้อ 2 กำหนดว่า "การกำหนดสัดส่วนมูลค่าของวัสดุ อุปกรณ์ หรือบริการ ให้นำมูลค่าของวัสดุ อุปกรณ์ หรือบริการ ทั้งหมดรวมเข้ากับจำนวนหน่วยของการนำเข้าเที่ยวแรก โดยให้สำแดงรายการแยกไว้ต่างหากจากราคานำเข้า หากมีการนำเข้าครั้งต่อไปภายในจำนวนหน่วยตามสัญญาซื้อขายไม่ต้องนำมารวมในราคาซื้อขายอีก เว้นแต่มีการนำเข้าตามสัญญาใหม่" กฎกระทรวงและประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยนำของเข้ามาในคดีนี้ โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) ข้อ 11 (4) และประกาศกรมศุลกากร ที่ 39/2543 วางหลักเกณฑ์ให้นำมูลค่างานด้านวิศวกรรมและการออกแบบที่กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักรและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตของที่นำเข้ามารวมเข้ากับจำนวนหน่วยของการนำเข้าเที่ยวแรกโดยให้สำแดงรายการแยกไว้ต่างหากจากราคานำเข้า ก็เพื่อให้ฐานราคาของของที่จะถูกผลิตจากวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่แยกนำเข้ามาในราชอาณาจักรแต่มีงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบที่กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักรและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตของที่นำเข้าเป็นราคาที่แท้จริง
อนึ่ง คดีนี้โจทก์นำสืบว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการนำเข้าวัตถุอันตรายโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2550 จึงยื่นคำร้องขอออกหมายค้นต่อศาล เพื่อพบและยึดสิ่งของ ได้แก่ สารเคมีอันเป็นวัตถุอันตราย กรมสอบสวนคดีพิเศษนำเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นสำนักงานของจำเลย ผลการตรวจค้นเจ้าพนักงานตรวจยึดเอกสาร 170 แผ่น ไปตรวจสอบ ต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีจำเลยนำสินค้าเพื่อก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน กรณีเป็นการสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงอากร ต่อมามีคำสั่งแต่งตั้งและเปลี่ยนแปลงพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง เห็นได้ว่าการดำเนินคดีนี้ไม่ได้เกิดจากมีบุคคลผู้มิใช่เจ้าพนักงานซึ่งนำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดโดยตรง แต่เกิดสืบเนื่องจากการสอบสวนขยายผลของพนักงานเจ้าหน้าที่เอง ดังนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับศาลก็ไม่อาจสั่งจ่ายสินบนนำจับตามคำขอท้ายฟ้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลย 30,000,000 บาท ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำความผิดจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล โดยให้จ่ายตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 6, 7 และ 8 วรรคสอง คำขอให้จ่ายสินบนให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์