โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 341,859.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปในต้นเงิน 233,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาประกันเป็นสัญญาปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 341,859.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 233,750 บาท นับถัดจากวันที่ 23 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม2532 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนายประเสริฐ ชัยชนะหรือหมุนบัวผู้ต้องหาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ ส่งมอบให้โจทก์ดำเนินคดี ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2532 จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากโจทก์ โดยสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดของโจทก์ ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมใช้เงิน 233,750 บาทโดยร้อยตำรวจเอกกมล ปักษา พนักงานสอบสวนลงชื่อในสัญญาประกันในฐานะผู้รับสัญญาตามคำร้องขอประกัน สัญญาประกัน และบันทึกเสนอสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับ ต่อมาจำเลยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนัด เป็นการผิดสัญญาประกันต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ จำเลยฎีกามีใจความว่าจำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาเดิม โดยมีร้อยตำรวจเอกกมล ปักษา เป็นผู้รับสัญญาการทำสัญญาประกันในฐานะผู้รับสัญญาของร้อยตำรวจเอกกมล ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในราชการของกรมตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนไม่ใช่ทำในฐานะส่วนตัว เมื่อมีการผิดสัญญาประกันผู้เสียหายตามสัญญาคือกรมตำรวจไม่ใช่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาเดิมและพนักงานสอบสวนก็ไม่อยู่ในฐานะเป็นนิติบุคคลที่จะฟ้องคดีได้ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาเดิมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากกรมตำรวจ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ถึงแม้พนักงานสอบสวนจะไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแต่ก็เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการอันกฎหมายกำหนดไว้ให้มีอำนาจทำสัญญาประกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 106 และมาตรา 113 ฉะนั้นจึงย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาประกันในฐานะเจ้าพนักงานตามอำนาจแห่งหน้าที่โดยชื่อตำแหน่งหน้าที่ของตน ดังนี้ เมื่อจำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112และจำเลยผิดสัญญาประกันดังกล่าว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาเดิม ย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยตามสัญญาประกันได้กรมตำรวจไม่ใช่พนักงานสอบสวนและมิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย จะฟ้องเองหรือมอบอำนาจให้ฟ้องหาได้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อสองมีว่า สัญญาประกันสมบูรณ์หรือไม่ เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ จำเลยฎีกามีใจความว่าจำเลยทำสัญญาประกันโดยมีหลักทรัพย์คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งเป็นทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับภริยาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาสัญญาประกันดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินตามสัญญาประกันเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยให้การว่าสัญญาประกันตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม โดยมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องจำเลยทำสัญญาประกันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกปัญหาข้อนี้ตามที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทั้งปัญหาเกี่ยวกับการให้ความยินยอมก็ไม่ใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้อนี้ของจำเลยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า สมควรให้จำเลยรับผิดชดใช้เบี้ยปรับแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากที่จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2532 แล้ว โจทก์ได้นัดให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์รวม 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 12มกราคม 2533 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2533 ครั้งที่สามเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2533 และครั้งที่สี่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22กรกฎาคม 2533 ปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ได้จนกระทั่งปัจจุบันก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์แต่อย่างใด แม้พันตำรวจเอกกมล ปักษา (ขณะเกิดเหตุที่ลงชื่อในสัญญาประกันในฐานะผู้รับสัญญามียศร้อยตำรวจเอก) พยานโจทก์จะเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า คดีข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนนั้นการจะให้ประกันตัวชั่วคราวต้องมีหลักทรัพย์มาทำสัญญาประกันไม่น้อยกว่า 60,000 บาทและพันตำรวจโทสมพงษ์ ฐานะกาญจน์ พยานโจทก์จะเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ปัจจุบันข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะการให้ประกันตัวชั่วคราวจะตีราคาประเมินไม่น้อยกว่า 60,000 บาทตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่เมื่อคำนึงถึงว่านับแต่จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ได้จนกระทั่งปัจจุบันดังกล่าวข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยให้ปรับจำเลยฐานผิดสัญญาประกันต่อโจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่พอสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้ออื่น ๆ ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ขอให้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในปัญหาเรื่องค่าปรับนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงต้องรับวินิจฉัย"
พิพากษายืน