โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนใบจอง ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทแปลงเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ให้โจทก์นำที่ดินพิพาทแปลงเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ มาแบ่งให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสี่คนละหนึ่งส่วน หากไม่สามารถแบ่งปันกันได้ ให้นำที่ดินแปลงนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทภายในเส้นสีเหลืองตามแผนที่พิพาท สำหรับคำขอตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีเหลืองตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เป็นของโจทก์ด้วย ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นางทิน กรอบแก้ว ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามแผนที่พิพาท เป็นที่ดินตามใบจองเลขที่ 333 ตำบลไหล่ทุ่ง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งใบจองดังกล่าวนายอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2532 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของจำเลยทั้งสี่หรือของโจทก์ เห็นว่า ตามข้อความในใบจองที่ดิน ระบุไว้แต่เพียงว่าใบจองฉบับนี้ให้ไว้เพื่อแสดงว่ารัฐได้ยอมให้นางนงเยาว์ (โจทก์) เข้าครอบครองที่ดินพิพาทชั่วคราว และตามมาตรา 1 แห่ง ป. ที่ดิน ก็ได้ให้คำวิเคราะห์ศัพท์คำว่า ใบจองหมายความว่า หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว ใบจองจึงมิใช่เอกสารสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดิน เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมือเปล่า ฉะนั้น ระหว่างจำเลยทั้งสี่กับโจทก์ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ ผู้นั้นก็ได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย แม้ใบจองจะมีชื่อโจทก์ แต่หากโจทก์มิได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ปัญหาว่าฝ่ายใดมีสิทธิครอบครองจึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.