โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายเอกชัย แซ่ลิ้ม บิดาของเด็กหญิงสรรัตน์ แซ่ลิ่มหรือแซ่ลิ้ม ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี และปรับ 15,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 3 ปี กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 4 ครั้ง ในระยะเวลา 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมเพื่อบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถไฟขบวนรถด่วนที่ 16 หมายเลข 4541 ออกจากสถานีรถไฟนครศรีธรรมราชเพื่อสับเปลี่ยนรางจากรางรถไฟที่ 2 ไปเข้ารางรถไฟที่ 1 แล้วรถไฟที่จำเลยขับได้ชนและทับเด็กหญิงสรรัตน์ แซ่ลิ่ม ผู้ตาย และเด็กหญิงวิไลวรรณ แก้วสกุล ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะผู้เสียหายกับผู้ตายเดินข้ามทางรถไฟและอยู่กึ่งกลางระหว่างรางรถไฟทั้งสองข้าง ได้ยินคนร้องบอกว่ารถไฟมา เมื่อหันไปดูปรากฏว่ารถไฟถึงตัวแล้ว ทำให้ผู้เสียหายและผู้ตายถูกรถไฟชนและลากไปกับรถไฟ เด็กหญิงชนาภรณ์ แซ่จู้ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเห็นผู้เสียหายและผู้ตายกำลังเดินอยู่บนรางรถไฟ เห็นรถไฟแล่นมาไม่ค่อยเร็วอยู่ห่างประมาณ 10 ถึง 15 เมตร ไม่ได้ยินเสียงหวีดรถไป รถไฟได้ชนผู้เสียหายและผู้ตาย นายสมมาต แซ่จู้ เบิกความว่า ขณะพยานอยู่ที่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากรางรถไฟประมาณ 10 เมตร เห็นรถไฟแล่นมาโดยแล่นไปเรื่อยๆ เสียงรถไฟเบาและไม่มีเสียงหวีดรถไฟ รถไฟแล่นผ่านไปเป็นตู้โบกี้ที่ 3 ที่ 4 ก็ได้ยินเสียงชาวบ้านร้องว่ารถไฟทับเด็ก นางวราภรณ์ กลั่นสุวรรณ เบิกความว่า ขณะพยานเดินอยู่บนถนนข้างคิวรถแท็กซี่ห่างจากทางรถไฟประมาณ 10 เมตร เห็นผู้เสียหายและผู้ตายเดินอยู่ข้างหน้าห่างพยานประมาณ 10 เมตร ได้ยินเสียงแม่ค้าร้องว่ารถไฟมาๆ พยานไม่เห็นรถไฟและไม่ได้ยินเสียงหวีดรถไฟ หลังจากนั้นได้ยินเสียงรถไฟ นายฉ่าย พรรณรังษี เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานนั่งอยู่หน้าบ้านซึ่งอยู่ห่างจากรางรถไฟประมาณ 10 เมตร เห็นผู้เสียหายและผู้ตายเดินออกมาจากคิวรถแท็กซี่เพื่อข้ามทางรถไฟ เห็นรถไฟขบวนหนึ่งแล่นรถไม่เร็วเสียงเงียบมากและไม่มีเสียงหวีดรถไฟ รถไฟได้ชนผู้เสียหายและผู้ตายขณะก้าวขึ้นทางรถไฟ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้ง 5 ปาก เบิกความสอดคล้องต้องกัน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยให้ได้รับโทษ เชื่อว่า พยานดังกล่าวเบิกความไปตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยขับรถไฟมาไม่เร็ว เสียงเงียบและไม่ได้เปิดหวีดรถไฟ เมื่อพิเคราะห์ถึงบริเวณที่เกิดเหตุตามภาพถ่าย เป็นชุมนุมชน มีบ้านเรือนอยู่สองข้างทางรถไฟเป็นจำนวนมาก มีร่องรอยเป็นทางเดินชัดเจน จำเลยควรเปิดหวีดรถไฟเพื่อให้คนที่สัญจรไปมาทราบเป็นระยะๆ การที่จำเลยไม่เปิดหวีดรถไฟเป็นสัญญาณเพื่อเตือนคนที่สัญจรไปมาให้ทราบว่ามีขบวนรถไฟขับผ่านมาจนเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น จึงเป็นการกระทำโดยประมาท เมื่อจำเลยกระทำไปโดยประมาท จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ส่วนผู้ตายและผู้เสียหายแม้จะมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อปัดความรับผิดได้ ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยถึงจะวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ตายและผู้เสียหายมีส่วนประมาท โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าเหตุที่เกิดเนื่องมาจากผู้ตายมีส่วนกระทำโดยประมาท ดังนั้น ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกวินิจฉัยขึ้นเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอเป็นโจทก์ร่วมของนายเอกชัย แซ่ลิ้ม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8