โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางละม้ายสุขสงวน โดยคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 11262/2543นางละม้าย โจทก์ที่ 2 และจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 35652 เนื้อที่ 60 ตารางวา โดยแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วนางละม้ายมีกรรมสิทธิ์ 1 ใน 60 ส่วน โดยนางละม้ายกันไว้เป็นทางเดินจากหน้าที่ดินเข้าไปยังบ้านเลขที่ 394 ซอยเพิ่มสิน แขวงดินแดง เขตดินแดงกรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ 44 ใน 60 ส่วน ที่ดินในส่วนของโจทก์ที่ 2 แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นที่ว่างเปล่าตั้งอยู่ด้านหน้าซ้ายของที่ดินยาวจากด้านหน้าไปจดด้านหลังของที่ดินมีทางเดินที่นางละม้ายกันไว้เป็นเส้นแบ่งติดด้านขวาที่ดินยาวจนถึงหน้าบ้านเลขที่ 394 ต่อจากนั้นเป็นแนวติดต่อกับด้านข้างของบ้านเลขที่ 394 จนสุดเขตที่ดินและส่วนที่ 2คือที่ดินที่ตั้งบ้านเลขที่ 394 จำเลยมีกรรมสิทธิ์ 15 ใน 60 ส่วน ที่ดินในส่วนของจำเลยตั้งอยู่ทางด้านข้างขวาของที่ดินแปลงดังกล่าวมีทางเดินของนางละม้ายเป็นเส้นแบ่งติดด้านซ้ายของที่ดิน ส่วนด้านหลังของที่ดินอยู่ติดกับบ้านเลขที่ 394 ที่ดินในส่วนของจำเลยเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่27/40 ง. โดยจำเลยได้รับโอนมาจากนางเพ็ญจันทร์ คงทอง เมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2528 เดิมก่อนนางละม้ายถึงแก่กรรม นางละม้ายเป็นเจ้าของที่ดินทั้งแปลงหลังจากที่นางละม้ายแบ่งที่ดินให้เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวต่างก็ได้แยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัดตามที่นางละม้ายยกให้ นางละม้ายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2524หลังจากนั้นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนก็ยังคงครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดดังกล่าวทุกประการ ก่อนที่จำเลยจะได้รับโอนที่ดินจากนางเพ็ญจันทร์จำเลยมิได้เป็นผู้เกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวและหลังจากที่จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนจากนางเพ็ญจันทร์แล้วต่างก็แยกการครอบครองที่ดินออกเป็นส่วนสัดตามเดิม โจทก์ที่ 1 และนายไพฑูรย์ สิริคีตกร โอนกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ 394 และที่ดินที่ตั้งบ้านดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2529 และโจทก์ที่ 2 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 และนายไพฑูรย์อยู่อาศัยหรือนำบ้านดังกล่าวให้เช่าหารายได้เป็นของตนเองแต่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2534 จำเลยเข้าไปขับไล่ผู้เช่าบ้านเลขที่ 394ของโจทก์ที่ 1 และนายไพฑูรย์แล้วจำเลยนำบ้านดังกล่าวให้บุคคลอื่นเช่าเก็บค่าเช่าเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว และจำเลยเข้าครอบครองที่ดินซึ่งเป็นทางเดินอันเป็นมรดกของนางละม้าย จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าใช้ประโยชน์ในบ้านเลขที่ 394 และที่ดินอันเป็นมรดกของนางละม้ายกับที่ดินของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าว ซึ่งหากนำบ้านเลขที่ 394 ให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท จำเลยเก็บค่าเช่าเป็นของตนเองแต่ผู้เดียวเป็นเวลา41 เดือน คิดเป็นเงิน 205,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 35652 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอดุสิต (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางละม้ายได้1 ใน 60 ส่วน โจทก์ที่ 2 ได้ 44 ใน 60 ส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกขายทอดตลาดหรือขายโดยประมูลราคากันเองนำเงินแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามส่วนสัด ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 205,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และชำระเงินอีกเดือนละ5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินในส่วนของโจทก์ทั้งสองกับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินในส่วนของโจทก์ที่ 2 ด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 15 ตารางวาพร้อมบ้านเลขที่ 27/40 ง. จากนางเพ็ญจันทร์ คงทอง แล้วครอบครองเป็นส่วนสัด ส่วนที่ดินทางเดินที่เป็นมรดกของนางละม้ายนั้นมีเนื้อที่3 ตารางวา มิใช่ 1 ตารางวา ตามฟ้องและมีชายคาบ้านของจำเลยคลุมอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง นางละม้ายยกที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และนายไพฑูรย์คนละ 11 ตารางวา รวมเป็น 22 ตารางวา ซึ่งที่ดินในส่วนนี้นางละม้ายปลูกบ้านเลขที่ 394 ไว้ แต่ปลูกไม่เต็มเนื้อที่ นางละม้ายไม่เคยยกให้หรือขายบ้านดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1และนายไพฑูรย์ไม่เคยขายบ้านดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 แต่นางละม้ายยกบ้านดังกล่าวให้แก่นายไพฑูรย์เพียงผู้เดียว นายไพฑูรย์ถูกคนร้ายตีศีรษะแตกเป็นคนวิกลจริตตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา เมื่อวันที่ 18กรกฎาคม 2529 โจทก์ที่ 2 ร่วมกับโจทก์ที่ 1 หลอกลวงฉ้อโกงนายไพฑูรย์ให้โอนที่ดินเฉพาะส่วนจำนวน 11 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วว่านายไพฑูรย์เป็นคนวิกลจริต นิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะแต่ในขณะนั้นนายไพฑูรย์ยังไม่มีผู้อนุบาล ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2538ศาลแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้อนุบาล จำเลยในฐานะเป็นผู้อนุบาลของนายไพฑูรย์จึงขอบอกล้างนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายไพฑูรย์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายและค่าเช่าแก่โจทก์ที่ 2อัตราเดือนละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2534 จนกว่าจำเลยจะเลิกให้เช่าบ้านเลขที่ 394 ซอยเพิ่มสิน ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง(เดิมสามเสนใน) เขตดินแดง (เดิมพญาไท) กรุงเทพมหานคร และยอมให้โจทก์ที่ 2 กลับเข้าใช้ประโยชน์ในบ้านหลังนั้นกึ่งหนึ่ง คำขอของโจทก์ที่ 2นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดเลขที่ 35652 ตำบลสามเสนใน (สามเสนฝั่งเหนือ)อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางละม้าย สุขสงวน ได้รับ 1 ใน 60 ส่วน ให้โจทก์ที่ 2 ได้รับ 44 ใน 60 ส่วน ให้จำเลยได้รับ 15 ใน 60 ส่วน ตามทิศและแนวเขตที่ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.7 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ทรัพย์พิพาทคือที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ22 ตารางวา ซึ่งมีบ้านเลขที่ 394 ปลูกอยู่ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 35652เอกสารหมาย จ.6 และตามรูปที่ดินที่แบ่งแยกการครอบครองเอกสารหมายจ.7 และจำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 2,000 บาทนับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไป เดิมที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวเป็นของนางละม้าย สุขสงวน มารดาคู่ความทั้งสองฝ่าย ต่อมานางละม้ายได้โอนที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และนายไพฑูรย์ สิริคีตกร ซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งของนางละม้าย ครั้นวันที่ 18 กรกฎาคม 2529 โจทก์ที่ 1กับนายไพฑูรย์โอนที่ดินในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนให้แก่โจทก์ที่ 2และโจทก์ที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ซึ่งมีอยู่ครึ่งหนึ่งในบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ด้วย โดยโจทก์ที่ 1 และนายไพฑูรย์ได้ขายให้แก่โจทก์ที่ 2 ในราคาคนละ 50,000 บาท แต่จดทะเบียนเป็นการให้เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนน้อยลง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 มีว่านายไพฑูรย์ได้ขายบ้านพิพาทในส่วนของตนให้แก่โจทก์ที่ 2 หรือไม่ และโจทก์ที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาททั้งหลังหรือไม่ เห็นว่า ตอนที่โจทก์ที่ 2ซื้อที่ดินพิพาทก็มีบ้านพิพาทปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว และโจทก์ที่ 1 ก็ยืนยันว่าได้ขายที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนของตนแก่โจทก์ที่ 2 ในราคา50,000 บาท ดังนี้ เมื่อนายไพฑูรย์ขายที่ดินพิพาทในราคาเดียวกันแก่โจทก์ที่ 2 และจดทะเบียนโอนวันเดียวกันกับโจทก์ที่ 1 ตามพฤติการณ์ย่อมบ่งชี้ว่านายไพฑูรย์ได้ขายบ้านพิพาทในส่วนของตนให้แก่โจทก์ที่ 2 ด้วย เพราะนายไพฑูรย์กับโจทก์ที่ 1 ต่างถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทเท่ากันจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่นายไพฑูรย์จะขายที่ดินพิพาทในส่วนของตนได้แพงกว่าโจทก์ที่ 1 แม้ในสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 16680/2534 ของศาลแขวงพระนครเหนือจะระบุว่าเป็นการโอนให้เฉพาะที่ดิน แต่ในสัญญาดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุว่ามีบ้านพิพาทปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท แสดงว่าการที่ระบุไว้เช่นนี้ก็เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนน้อยลงเท่านั้น เอกสารดังกล่าวจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นการโอนเฉพาะที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งในการจดทะเบียนโอนก็ไม่ปรากฏเงื่อนไขว่าไม่ได้โอนบ้านพิพาทด้วยประกอบกับบ้านพิพาทปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทในลักษณะตรึงตราถาวรนับได้ว่าเป็นส่วนซึ่งโดยสภาพเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลายทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป เมื่อไม่ปรากฏเงื่อนไขในการโอนบ้านพิพาทของคู่กรณีโดยชัดแจ้ง บ้านพิพาทจึงย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทโดยชอบ ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาททั้งหลังซึ่งเป็นส่วนควบนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทในส่วนของนายไพฑูรย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ในฐานะกรรมสิทธิ์รวมเรียกค่าเสียหายและขับไล่ซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ในคดีเดียวกัน แต่คำขอหลักคือให้แบ่งทรัพย์สินในฐานะกรรมสิทธิ์รวมเมื่อจำเลยมิได้ให้การว่าที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ขอแบ่งนั้นเป็นของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นของนายไพฑูรย์จำนวน 11 ตารางวา จำเลยจึงมิได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ คดีในส่วนนี้จึงไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างมีทุนทรัพย์ในที่ดินส่วนนี้ และโจทก์ที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มมาจำนวน 16,500 บาท นั้น ไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านเลขที่ 394 ซอยเพิ่มสิน ถนนประชาสงเคราะห์แขวงดินแดง (เดิมสามเสนใน) เขตดินแดง (เดิมพญาไท) กรุงเทพมหานครของโจทก์ที่ 2 และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2534 จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินและบ้านพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น 16,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2