โจทก์ทั้งสามฟ้อง ขอให้จำเลยเพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 6920 และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามเนื้อที่คนละประมาณ 48.33 ตารางวา และ 7 ไร่ 72 ตารางวา (2,872.66 ตารางวา) ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายสงวนศักดิ์บุตรของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยไปเพิกถอนพินัยกรรม (ที่ถูก เพิกถอนนิติกรรม) การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 26920 ตำบลคำเนียม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2542 และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 26920 ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามภายใน 7 วัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 26920 ให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเนื้อที่คนละ 1 ใน 6 ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมดของที่ดินทั้งสองแปลง คำขอที่กำหนดระยะเวลาให้จำเลยโอนที่ดินตามส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสามให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งทายาทอื่นของนางสีได้ตกลงแบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคดีนี้ให้แก่จำเลยและนางสาวทองแดงเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้วหรือไม่ โจทก์ทั้งสามคงมีพยานคือโจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่เบิกความว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกของนางสี เมื่อนางสีถึงแก่ความตายแล้วทายาทของนางสีไม่เคยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของจำเลยและนางสาวทองแดงแต่อย่างใด โดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เรียกร้องขอแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่พิพาทย่อมจะเบิกความให้เป็นประโยชน์แก่ตน คำของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนพยานโจทก์ทั้งสามอีก 3 ปาก คือ นายภิญโญ นางมงคลและนางอุบลรัตน์นั้นก็เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ได้รู้เห็นว่าทายาทของนางสีจะมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือไม่ ส่วนจำเลยมีพยานคือตัวจำเลยเบิกความยืนยันว่าหลังจากนางสีถึงแก่ความตาย มีการทำบุญหามารดา พี่น้องทุกคนตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินว่า บุคคลใดทำประโยชน์ที่ดินแปลงใดก็เป็นของบุคคลนั้น หลังจากนั้นจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่มีบุคคลใดมาเกี่ยวข้องโดยจำเลยมีนางสาวทองแดงและนายอ่อนสีมาเบิกความสนับสนุนและสอดคล้องกับคำของจำเลยโดยเฉพาะนายอ่อนสีเป็นพี่ชายของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยกับเป็นอาของโจทก์ที่ 3 และเป็นทายาทคนหนึ่งของนางสี แต่ไม่ได้ฟ้องเรียกร้องเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนับว่าเป็นพยานคนกลาง ยิ่งกว่านั้นหากไม่มีการตกลงดังที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง นายอ่อนสีย่อมได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การที่นายอ่อนสีมาเบิกความว่า มีการตกลงแบ่งทรัพย์สินหลังมารดาตาย โดยที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกได้แก่จำเลยจึงเป็นการเบิกความที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองทำให้ตนเสียประโยชน์ไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลง คำของนายอ่อนสีมีน้ำหนักรับฟังได้ อนึ่ง แม้จำเลยจะไปโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นชื่อจำเลยแต่ผู้เดียวก็ได้ความจากนางสาวทองแดงเบิกความว่าได้ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยก่อน ซึ่งจำเลยก็เบิกความว่าหากนางสาวทองแดงมาขอแบ่งก็จะแบ่งให้ นอกจากนี้ยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งที่ดินจากบิดามารดามากกว่าผู้อื่นเนื่องจากเป็นผู้เลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นอันเป็นการสอดคล้องกับที่จำเลยนำสืบและโจทก์ที่ 2 ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นที่ทำนาให้แก่จำเลยและนางสาวทองแดง เมื่อบิดามารดาถึงแก่ความตาย จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อมารดาถึงแก่ความตายจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาและเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าได้มีการตกลงแบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยและนางสาวทองแดงจริงดังที่นำสืบ จำเลยจึงได้เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ ยิ่งกว่านั้นจำเลย นายอ่อนสี และนางสาวทองแดง ยังเบิกความยืนยันว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมารดาตกลงแบ่งให้แก่จำเลยและนางสาวทองแดงแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียนโดยเฉพาะที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยกับนางสีตั้งแต่ก่อนนางสีถึงแก่ความตายและยังคงอาศัยตลอดมาหลังจากนางสีถึงแก่ความตายซึ่งโจทก์ที่ 2 ก็เบิกความรับรองดังที่วินิจฉัยข้างต้น คำของบุคคลทั้งสามมีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่า ก่อนนางสีถึงแก่ความตายนอกจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้ว นางสียังมีที่ดินอีก 5 แปลง ซึ่งนางสีก็ได้แบ่งให้แก่บุตรทุกคนแล้วย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่แบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่บุตร เพราะถ้าไม่ตกลงยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยก่อนนางสีตายแล้ว จำเลยก็จะได้ที่ดินน้อยกว่าบุตรคนอื่นซึ่งขัดกับประเพณีท้องถิ่นดังที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยนำสืบว่าบุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาจะได้รับส่วนแบ่งที่ดินมากกว่าบุตรคนอื่น พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อนางสีถึงแก่ความตาย ทายาทของนางสีได้ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของนางสีว่าบุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อนนางสีถึงแก่ความตายและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น ทั้งจำเลยและนางสาวทองแดงได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตั้งแต่นางสีถึงแก่ความตายโดยนางสีครอบครองแทนในส่วนของนางสาวทองแดง กรณีจึงต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด..." ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผิดไปจากที่ตกลงหาได้ไม่ แม้ภายหลังจำเลยจะไปยื่นคำร้องขอจัดการมรดกก็หาทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาทไม่ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นเพียงวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิเรียกร้องในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.