โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 334, 335, 339, 340 ตรี ริบกระบอกไฟฉายและกระเป๋าใส่เอกสารของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (7), 340 ตรี, 83 จำคุกคนละ 15 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน ริบกระบอกไฟฉายและกระเป๋าใส่เอกสารของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก จำคุก 5 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนที่โจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทั้งสองคบหาเป็นคนรักก่อนเกิดเหตุประมาณ 3 ถึง 4 เดือน จำเลยทั้งสองเคยติดต่อกันผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ระหว่างวันที่ 15 ถึง 18 มีนาคม 2562 ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กง 2727 พะเยา มารับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดลำพูนแล้วไปพักค้างคืนที่โรงแรม บ. ในจังหวัดลำปาง วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยทั้งสองออกจากโรงแรมแล้วจำเลยที่ 2 ขับรถไปส่งจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนฉัตรไชย และไปจอดรออยู่หน้าร้านบันเทิงจักรยานฝั่งตรงข้ามห่างประมาณ 40 เมตร จำเลยที่ 1 เข้าไปในธนาคาร ใช้กระบอกไฟฉายถอดฝาปิดหัวท้ายออกให้มีลักษณะคล้ายอาวุธปืนข่มขู่พนักงานของธนาคารจนหวาดกลัวแล้วจำเลยที่ 1 กระโดดข้ามเคาน์เตอร์เข้าไปหยิบเงินสดบนโต๊ะและในลิ้นชัก รวม 850,000 บาท ใส่กระเป๋าสีดำที่นำติดตัวไปด้วยแล้ววิ่งออกจากธนาคารไปขึ้นรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 จอดรออยู่ เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถออกไปได้ประมาณ 20 เมตร ก็ถูกร้อยตำรวจโทวิชญ์พล ซึ่งปฏิบัติงานจราจรอยู่บริเวณนั้นสกัดไว้ จากนั้นร้อยตำรวจโทวิชญ์พลกับเจ้าพนักงานตำรวจอื่นที่ตามมาสมทบเข้าควบคุมตัวจำเลยทั้งสองพร้อมตรวจยึดกระเป๋าสีดำภายในมีกระบอกไฟฉาย 1 กระบอก เงินสดจำนวน 850,000 บาท เสื้อสีขาว 1 ตัว และยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลยทั้งสองอีก 2 เครื่อง เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ ได้ความจากนางสาวจิรวดี พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารว่า ขณะพยานวิ่งหลบหนีออกมาทางด้านหน้าธนาคารเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งถือกระเป๋าสีดำมาทางเดียวกับพยานแล้ววิ่งผ่านพยานไปขึ้นรถยนต์คันสีขาวที่จอดอยู่หน้าร้านบันเทิงจักรยาน โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ขนเงินของธนาคารติดตามมา พยานแจ้งคนเหล่านั้นว่าจำเลยที่ 1 วิ่งเข้าไปในรถยนต์คันสีขาว และได้ความจากร้อยตำรวจโทวิชญ์พล พยานโจทก์ว่า ขณะปฏิบัติงานจราจรได้ยินเสียงดังมาจากทางด้านหน้าธนาคารให้ไปสกัดรถยนต์คันสีขาวที่จอดอยู่หน้าร้านบันเทิงจักรยาน พยานเห็นรถยนต์คันสีขาวเคลื่อนออกมาได้ประมาณ 20 เมตร จึงบอกให้รถยนต์คันที่ขับอยู่ด้านหน้ารถยนต์คันสีขาวหยุดเพื่อไม่ให้รถยนต์คันสีขาวขับต่อไปได้ แล้วพยานเดินไปที่รถยนต์คันสีขาว รถยนต์คันสีขาวพยายามขับเบี่ยงขวา พยานบอกให้หยุดพร้อมทำท่าดึงอาวุธ รถยนต์คันสีขาวจึงหยุดและลดกระจกรถลง พยานเห็นจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ จำเลยที่ 1 นั่งข้างคนขับโดยมีกระเป๋าสีดำอยู่บนตัก เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ขับรถไปส่งจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารโดยจำเลยที่ 1 ถือกระเป๋าสีดำติดตัวไปด้วยก็ดี หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ถือกระเป๋าดังกล่าวซึ่งบรรจุเงินสดที่ชิงมาจำนวนมากถึง 850,000 บาท วิ่งหลบหนีไปขึ้นรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 จอดรออยู่โดยไม่ต้องเสียเวลามองหาเลยก็ดี เมื่อนำไปพิจารณาประกอบข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ของจำเลยทั้งสองในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุเพียง 3 วัน ซึ่งมีการพูดคุยเกี่ยวกับหนี้สินของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่กว่า 100,000 บาท และพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทวิชญ์พลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ และไม่ปรากฏสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อนที่ว่าภายหลังสกัดให้จำเลยที่ 2 หยุดรถ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ยอมหยุดยังคงพยายามขับเบี่ยงขวาเพื่อหลบหนี และตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านยืนยันว่า เป็นการพยายามขับหลบหนี มิใช่การขับในลักษณะเบี่ยงรถเพื่อหลีกหนีการจราจรติดขัดตามปกติ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมบ่งชี้แสดงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำความผิดคดีนี้ อย่างไรก็ตาม คดีคงได้ความเพียงว่า ขณะจำเลยที่ 1 กำลังชิงเงินสดอยู่ในธนาคารนั้น จำเลยที่ 2 จอดรถอยู่คนละฝั่งถนนกับธนาคาร ห่างไปประมาณ 40 เมตร โดยจำเลยที่ 2 นั่งอยู่ในรถ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเข้าไปชิงเงินสด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 คอยดูต้นทางให้จำเลยที่ 1 หรือให้ความร่วมมือโดยใกล้ชิดกับการที่จำเลยที่ 1 ชิงเงินสด จำเลยที่ 2 เพียงแต่รอคอยอยู่เพื่อจะขับรถพาจำเลยที่ 1 ออกไปจากที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนและขณะกระทำผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เท่านั้น แม้โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการกระทำความผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 2 มิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อจำเลยที่ 2 เพียงแต่ขับรถยนต์ไปส่งและรอรับจำเลยที่ 1 อันเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการชิงทรัพย์ มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ดังกล่าวเพื่อความสะดวกในการชิงทรัพย์ หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 340 ตรี ดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 สำหรับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 จำคุก 3 ปี 4 เดือน คำเบิกความของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5