โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มเป็นเงิน 5,583,356 บาท แก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเดือนของต้นเงินอากรขาเข้าที่ชำระขาดตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับรวมสี่ฉบับเป็นเงิน 2,098,970 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2551 จำเลยนำสินค้ารถยนต์โดยสารขนาด 38 ที่นั่ง ยี่ห้อ "G." ซึ่งเป็นสินค้าที่มีกำเนิดในสาธารณรัฐประชาชนจีนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยรวม 4 ครั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยวางเงินประกันราคาค่าอากรไว้เพื่อรอผลการตรวจสอบตามใบขนสินค้าเลขที่ 2801-01250-81344, 2801-01250-81345,2801-00251-80547 และ 2801-00251-80548 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบพบว่ารถยนต์โดยสารที่จำเลยนำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทสำแดงราคาต่ำกว่ามูลค่าปกติทั่วไปของสินค้าในกลุ่มรถยนต์โดยสารรุ่นเดียวกันที่นำมาผ่านพิธีการศุลกากรและจำเลยไม่สามารถชี้แจงเกี่ยวกับราคาที่สำแดงได้จึงกำหนดราคาศุลกากรโดยเทียบเคียงกับราคาที่สำนักสืบสวนและปราบปรามตรวจพบเป็นการกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 3 ราคาซื้อขายของที่คล้ายกันตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคาศุลกากรตามระบบราคาแกตต์และประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า เงินเพิ่มอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินพร้อมใบแนบใบแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 จำเลยยื่นอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 แต่ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 มีมติให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 เป็นคดีหมายเลขดำที่ ภ.200/2560 ของศาลภาษีอากรกลาง และต่อมาจำเลยก็ฟ้องโจทก์ที่ 1 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งรวมถึงกรณีตามใบขนสินค้าพิพาททั้ง 4 ฉบับในคดีนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ภ.216/2560 ของศาลภาษีอากรกลาง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และมาตรา 112 อัฏฐารส บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ดังนั้นหากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่พอใจการประเมิน กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายประการใด โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินได้ตามที่เห็นสมควร และหากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สามารถอุทธรณ์โดยฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีนี้ในส่วนอากรขาเข้าจำเลยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 112 ฉ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรโดยไม่รอให้พ้นกำหนดเวลา 30 วัน ที่จำเลยสามารถจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 112 อัฏฐารส การที่จำเลยจะต้องเสียภาษีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่จึงยังไม่เด็ดขาด เพราะยังอยู่ในเวลาที่จำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้และต่อมาจำเลยได้ฟ้องโจทก์ที่ 1 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งรวมถึงใบขนสินค้าพิพาททั้ง 4 ฉบับในคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ภ.216/2560 ของศาลภาษีอากรกลาง ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้า โดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา..." เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าเพื่อใช้เป็นฐานภาษี เมื่อจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับอากรขาเข้าซึ่งมีผลต่อฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มตามการประเมินจึงยังไม่เด็ดขาด โจทก์ที่ 2 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ