โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 399 เม็ด หนัก 36.210 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 10.243 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง จำเลยที่ 1 รับราชการ สังกัดโรงเรียนการกำลังสำรอง กรมการกำลังสำรองทหารบกค่ายธนะรัชต์ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายและต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ พ.ศ.2534 มาตรา 10 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 5, 6, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 มีอาชีพรับราชการทหาร จึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ระวางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 30 ปี ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังเป็นที่ยุติว่าตามวันเวลาเกิดเหตุดังกล่าวในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 399 เม็ด น้ำหนัก 36.210 กรัม คำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์ได้ 10.243 กรัม เป็นของกลาง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกพิมล คงทอง และจ่าสิบตำรวจถาวร ใจแจ่ม เป็นพยานเบิกความสอดคล้องกันได้ความว่าในวันเกิดเหตุพยานทั้งสองกับพวกตั้งด่านตรวจอยู่บริเวณถนนสายเถิน-ลี้ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า มีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 นั่งคู่กันมา แล่นจากอำเภอลี้มุ่งหน้าไปอำเภอเถิน เมื่อรถยนต์กระบะคันดังกล่าวแล่นมาถึงด่านตรวจ ร้อยตำรวจเอกพิมลส่งสัญญาณให้รถหยุดเพื่อตรวจค้น ผลการตรวจค้นที่บริเวณกระบะหลังรถพบเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ในถุงปุ๋ยซึ่งภายในมีข้าวสารบรรจุอยู่ปริมาณครึ่งถุงและที่ปากถุงมีเชือกมัดไว้ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็นำสืบรับว่า เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในถุงปุ๋ยบรรจุข้าวสารบนรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งคู่มาด้วยจริง ที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าถุงปุ๋ยที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของนางบัวจันทร์ สนธิกุล ฝากมาให้แก่นางศรีไพรหรือต่ายซึ่งเป็นหลานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่ามีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนมาด้วยนั้น ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกพิมลว่า ขณะตรวจค้นตัวจำเลยทั้งสองมีอาการเลิกลั่กและเมื่อพยานกับพวกค้นพบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ในถุงข้าวสาร จำเลยทั้งสองบอกว่าเป็นของผู้อื่นฝากมาในรถ และบอกว่าจำชื่อคนฝากไม่ได้ อันเป็นข้อพิรุธที่บ่งชี้จำเลยทั้งสองรู้อยู่แก่ใจแล้วว่ามีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนมาในถุงข้าวสาร นอกจากนี้ร้อยตำรวจโทรักเกียรติ แย้มบางยาง พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำนางบัวจันทร์ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง นางบัวจันทร์ให้การว่า ได้ฝากถุงปุ๋ยใส่ข้าวสารกับจำเลยทั้งสองจริง แต่เมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนในถุงปุ๋ยใส่ข้าวสารนั้นไม่ใช่ของนางบังจันทร์ ส่วนที่นางศรีไพรหรือต่าย ณ เชียงใหม่ พยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่า นางบัวจันทร์ฝากถุงปุ๋ยใส่ข้าวสารมาให้แก่พยานเพื่อนำไปมอบให้แก่สามีพยาน โดยพยานทราบว่าภายในถุงปุ๋ยจะมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนมาด้วยนั้น ขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนของนางบัวจันทร์ประกอบกับขณะที่นางศรีไพรหรือต่ายเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองนั้นต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นการง่ายที่จะเสี้ยมสอนให้เบิกความช่วยเหลือจำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวแล้วได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ระวางโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดและลงโทษจำคุก 30 ปีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2534 มาตรา 3 และมาตรา 10 บัญญัติให้ระวางโทษผู้กระทำความผิดเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเฉพาะการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทางด้านการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองด้วยไม่ แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5