โจทก์ทั้งแปดฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งแปดร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6615 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา จากนายแดง ชินสมบูรณ์ เป็นเงิน 1,500,000 บาท โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียน ต่อจำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดิน จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 ในโฉนดที่ดิน ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ที่ 3 ว่า นายแดงเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6615 ที่แท้จริง ได้ยื่นคำขออายัดที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่ได้ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งแปด โจทก์ทั้งแปดได้ตรวจสอบโฉนดที่ดินและหลักฐานแล้วจึงทราบว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 6615 ที่โจทก์ทั้งแปดได้รับมานั้นเป็นโฉนดที่ดินปลอม ตราประทับที่จำเลยที่ 1 ประทับลงในโฉนดที่ดินเป็นตราปลอม บัตรประจำตัวของนายแดงเป็นเอกสารปลอมการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่ตรวจสอบโฉนดที่ดินและเอกสารปลอมกับโฉนดที่ดินฉบับหลวงนั้น เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้มีคำสั่งเพิกถอนการสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้ ทำให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลละเมิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน1,500,000 บาท แก่โจทก์ทั้งแปด พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 281,250 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่านายแดงเป็นเจ้าของที่ดินและเอกสารที่นำมายื่นนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่โจทก์ทั้งแปด จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย1,500,000 บาท แก่โจทก์ทั้งแปดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่8 กุมภาพันธ์ 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งหมดและจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งแปดถูกบุคคลที่แอบอ้างว่าชื่อนายแดง ชินสมบูรณ์เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6615 นำโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งเป็นโฉนดปลอมหลอกขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งแปดในราคา 1,500,000 บาท โดยจดทะเบียนขายที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ทั้งแปดมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามฟ้องโจทก์มิได้ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ร่วมฉ้อโกงทรัพย์ แต่ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนมิชอบหรือประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบเอกสาร จึงไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม ซึ่งหมายความว่า จำเลยที่ 1 ก็ถูกหลอกลวงเช่นเดียวกับโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบเอกสารให้ดีหรือจดทะเบียนซื้อขายโดยประมาทเลินเล่อไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ราชการ กรมที่ดินย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ โจทก์จะอ้างความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ว่าทำละเมิดต่อโจทก์มิได้ ทั้งการที่โจทก์เสียเงินไปเพราะถูกหลอกลวงฉ้อโกงทรัพย์ มิใช่เกิดจากการตรวจสอบเอกสาร เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า การจดทะเบียนซื้อขายตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำละเมิด กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รับจดทะเบียนซื้อขายไปตามคำรับรองและความประสงค์ของโจทก์ จึงไม่ปรากฏข้อโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า การซื้อที่ดินของโจทก์ได้กระทำขึ้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงมั่นใจและเชื่อโดยสุจริตใจว่า การซื้อขายจะต้องสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการซื้อขายครั้งนี้ จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ส่งมอบโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนการซื้อขายเสร็จแล้วมอบโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาจึงทราบว่าโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งแปดเป็นเจ้าของปลอมและนายแดงเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ได้ขายที่ดินของนายแดงแต่ประการใด การปลอมบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านและโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินโดยโจทก์ทั้งแปดไม่ทราบมาก่อน จำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่หรือมิฉะนั้นได้กระทำการในหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อมิได้ตรวจสอบหลักฐานและโฉนดที่ดิน หากมีการตรวจสอบหลักฐานของทางราชการที่มีอยู่โดยเฉพาะโฉนดที่ดินก็ทราบได้ว่าโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินที่นำมาจดทะเบียนเป็นเอกสารปลอม การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำหน้าที่โดยมิชอบหรือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ทั้งแปดเสียหายเป็นเงินเท่ากับค่าที่ดินที่โจทก์ทั้งแปดเสียไปจำนวน 1,500,000 บาท อันเป็นความเสียหายจากผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยตรงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งแปดแล้ว โจทก์ทั้งแปดมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า ฟ้องโจทก์ทั้งแปดเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งแปดบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่อย่างไร และได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ตามที่โจทก์ทั้งแปดได้บรรยายฟ้องนั้นแสดงว่า จำเลยที่ 1 กับพวกทุจริตต่อหน้าที่หรือมิฉะนั้นก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นผลให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหายได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำหลายประการ ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปฏิบัติทั้งการประทับตราปลอมหรือไม่ตรวจเอกสาร เป็นการบรรยายในรายละเอียดการปฏิบัติจึงไม่ขัดแย้งกัน ฟ้องของโจทก์ทั้งแปดได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ฟ้องโจทก์ทั้งแปดไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่า จำเลยที่ 1กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ทั้งแปดมิได้ฟ้องว่าการรับจดทะเบียนการขายที่ดินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เพียงแต่ว่าการประทับตราปลอมในโฉนดที่ดินปลอมขึ้น และการละเว้นไม่ตรวจเอกสารโดยประมาทเลินเล่อเป็นละเมิด ซึ่งตราที่ใช้ประทับในวันจดทะเบียนซื้อขายนั้นเป็นตราประทับที่แท้จริง ส่วนการตรวจสอบเอกสารนั้น สำหรับบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่มีการถ่ายเอกสารเดิมเก็บไว้ จึงไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้ จึงเชื่อว่าบุคคลที่อ้างว่าเป็นนายแดงเป็นเจ้าของที่แท้จริง และการจะดูว่าเป็นโฉนดปลอมหรือไม่ ต้องมีความรู้หรือความสามารถชำนาญพิเศษ เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งแปดมิได้บรรยายฟ้องว่า การรับจดทะเบียนการขายที่ดินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นเองเป็นผลก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ สำหรับเอกสารที่นำมาใช้ในการจดทะเบียนซื้อขายในวันเกิดเหตุโดยบุคคลที่อ้างว่าชื่อนายแดงเป็นผู้นำมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเอกสารปลอม คือ โฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ที่อ้างชื่อว่าเป็นนายแดง สำหรับโฉนดที่ดินนั้นร้อยตำรวจโทธรรมนูญ เชาวะวณิชย์ เบิกความว่า เจ้าพนักงานที่ดินมาแจ้งว่าได้มีการปลอมแปลงโฉนดที่ดินพยานจึงเรียกโฉนดที่ดินมาตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.10 เห็นว่า มีรอยพิรุธ คือ มีรอยลบแก้ไขและทำให้เหมือนกับโฉนดตัวจริง ส่วนที่ลบแก้ไขคือ ด้านหน้าของโฉนดเกือบทั้งหมด จากการสอบถามเจ้าพนักงานที่ดินว่า อาจจะมีการลบแก้ไขบ้างแต่ไม่มากขนาดนี้ ซึ่งรอยแก้ไขเห็นได้ชัดเจน และกระดาษของโฉนดที่ดินปลอมเมื่อเปรียบเทียบกับโฉนดที่ดินฉบับหลวงแล้ว เป็นคนละประเภทนั้น เนื้อกระดาษไม่เหมือนกัน ซึ่งขั้นตอนในการปฏิบัติหน้าที่ของการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น จำเลยที่ 1เบิกความว่าในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีกฎกระทรวงตามเอกสารหมาย ล.2 ให้บุคคลที่ต้องการจดทะเบียนยื่นคำขอพร้อมส่งมอบเอกสารและโฉนดที่ดินแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าพนักงานได้รับเอกสารดังกล่าวจะต้องทำการสอบสวนถึงความสามารถของผู้ขอความสมบูรณ์ของนิติกรรมที่จะทำกระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบตามเอกสารหมาย ล.3 ไว้ 3 ระยะ คือขั้นตอนที่ 1 การสอบสวน ชื่อ อายุ ที่อยู่ของผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน สอบสวนความประสงค์ของผู้ขอ และความสามารถของผู้ขอและตรวจสอบเอกสารหลังจากสอบสวนแล้ว หากมีการขัดข้องจะต้องส่งให้ผู้มีอำนาจในการตรวจสอบเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งและแจ้งให้ผู้ให้ยื่นคำขอทราบ หากไม่มีเหตุขัดข้องก็ดำเนินการให้ผู้ขอได้ ขั้นตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติเมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้วต้องลงคำขอประจำวัน ตรวจอายัด และจัดพิมพ์เอกสารตามที่สอบสวนลงในเอกสารของทางราชการ และจัดการแก้ไขทะเบียนที่ดินให้ถูกต้องตรงกันทั้งฉบับของทางราชการและของผู้ยื่นคำขอ และตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตรวจแล้วให้ผู้ขอลงนามในเอกสารที่จัดทำ และนำเสนอต่อผู้มีอำนาจลงนามในการทำนิติกรรมอีกครั้ง ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนของผู้มีอำนาจลงนามตรวจสอบในการทำนิติกรรมว่า สมบูรณ์หรือไม่ และตรวจสอบเอกสารทุกชนิดที่พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ได้จัดทำเมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้วจึงลงนาม จำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องในขั้นตอนที่ 3ในฐานะผู้ตรวจสอบเอกสารและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ส่วนชั้นสอบสวนเป็นหน้าที่ของนายวัชรเดช สุวรรณดิษ นายมณเฑียร อนันตะยา เป็นผู้จัดทำในขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ โจทก์ที่ 1 กับพวกและนายแดงได้มาขอทำนิติกรรมขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6615 หลังจากนายวัชรเดชได้สอบสวนเห็นข้อบกพร่องจึงมาปรึกษาจำเลยที่ 1 ว่า นายแดงนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนมาเมื่อนับอายุของนายแดงถึงวันที่ยื่นคำขอมีอายุ 59 ปี แต่ตรวจสอบกับเอกสารซึ่งนายแดงได้ซื้อที่ดินโฉนดดังกล่าวเมื่อปี 2510 จนถึงวันที่ยื่นคำขอมีอายุ 71 ปี ทำให้อายุนายแดงคลาดเคลื่อนถึง 22 ปี จำเลยที่ 1 ให้ตรวจสอบกับเอกสารเดิมที่สอบสวนไว้ก่อนนายแดงขอเข้าพบจำเลยที่ 1 และชี้แจงว่า ในวันที่มีการซื้อขายในปี 2510นายแดงได้ยื่นสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่ได้จดอายุของนายแดงผิดพลาด จำเลยที่ 1จึงขอตรวจดูสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนอีกครั้งและเอกสารต่าง ๆ ที่ได้จัดทำไว้ก่อนแต่ไม่มีเอกสารจะตรวจสอบได้ เมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าอายุของนายแดงที่ถูกต้องคืออายุ 59 ปี ในขณะที่ยื่นคำขอ จึงให้นายแดงไปยื่นคำขอแก้ไขอายุให้ถูกต้อง หลังจากนั้นนายวัชรเดชได้จัดพิมพ์สัญญาซื้อขายและดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินทั้งฉบับของทางราชการและของเจ้าของที่ดิน และจัดทำสัญญาซื้อขายนำเสนอต่อจำเลยที่ 1 เพื่อลงนาม เมื่อได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบแล้วจำเลยที่ 1 ได้ลงนามในโฉนดของพนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าของที่ดินและให้นายวัชรเดช ประทับตราต่อหน้าจำเลยที่ 1 ผู้สอบสวนได้นำเรื่องเกี่ยวกับอายุของนายแดง ซึ่งแตกต่างกันระหว่างอายุ 27 ปี และอายุ 49 ปีมาเสนอแต่ไม่มีการถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเดิมเก็บไว้ ในสำเนาโฉนดที่ดินหมาย ล.14 แผ่นที่ 2 ซึ่งมีตราประทับของกรมที่ดินนั้น เมื่อนำมาตรวจสอบกับตราประทับตามเอกสารหมาย ล.35ปรากฏว่าแตกต่างกัน ด้านหลังของโฉนดเอกสารหมาย ล.14 เขียนอักษรว่า น. ส่วนโฉนดเอกสารหมาย ล.15 เขียนว่า เอ็น. จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจสอบเนื่องจากตัว น. และตัว เอ็น. ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ นายวัชรเดชเบิกความว่า พยานได้สอบสวนตามแบบการสอบสวนแล้วนำสารบบที่ดินมาตรวจสอบกับโฉนดที่ดินฉบับหลวงตามเอกสารหมาย ล.15 ปรากฏว่าสารบบตรงกัน หลังจากดำเนินการครบถ้วนแล้วจึงนำเอกสารทั้งหมดไปให้จำเลยที่ 1พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ปรากฏว่าอายุของผู้ขายผิด เนื่องจากอายุขณะที่นายแดงซื้อมาเปรียบเทียบกับอายุขณะที่จะมาซื้อขายแตกต่างกันจำเลยที่ 1แจ้งให้สอบสวนเกี่ยวกับอายุของนายแดงก่อน นายแดงว่าในการซื้อขายครั้งก่อนแจ้งอายุผิดไป จึงให้ไปพบจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 เชื่อเรื่องอายุของนายแดงที่จดทะเบียนซื้อขายครั้งแรกนั้นผิดพลาดไปจำเลยที่ 1 จึงให้แก้เกี่ยวกับอายุและจดทะเบียนซื้อขายที่ดินให้ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 ตรวจสอบดูแล้วไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นของปลอม โฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย ล.14 เป็นโฉนดปลอมมีระบุที่มุมกระดาษด้านขวาว่า น.ส. 4 ข. แต่ฉบับหลวงซึ่งเป็นฉบับที่แท้จริงตามเอกสารหมาย ล.15 ไม่มีระบุไว้ และมีสีแตกต่างกันพยานไม่ได้ตรวจสอบเอกสารหมาย ล.14 ในจุดที่มีการแก้ไขในเอกสารว่าไม่ได้ลงชื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับไว้ ในทางปฏิบัติตัวอักษรที่ใช้ในการกำกับทิศของที่ดินนั้นจะต้องมีตัวอักษรแบบเดียวกันตามเอกสารหมาย ล.14 ใช้กำกับด้วยภาษาไทย ส่วนฉบับหลวงใช้อักษรโรมัน เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีความรู้ความชำนาญในวิธีการจดทะเบียนและตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่วางไว้โดยเคร่งครัด ตามขั้นตอนที่ 3 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะลงนามในสารบัญจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในขั้นตอนสุดท้ายจำเลยที่ 1 ได้พบข้อพิรุธในเรื่องความสามารถในเรื่องอายุของผู้ขายก่อนแล้ว ซึ่งหากเปรียบเทียบดูจะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ตามที่ผู้ขายแจ้งว่า เจ้าพนักงานพิมพ์ผิด โดยอายุแจ้งว่า ในขณะที่จดทะเบียนซื้ออายุ 49 ปี แต่เมื่อเทียบกับอายุตามหลักฐานในขณะที่มายื่นคำร้องขอขายย้อนลงไปถึงปี 2510 ซึ่งเป็นวันที่จดทะเบียนซื้อนายแดงจะมีอายุ 27 ปี สภาพของคนที่อายุ 27 ปี กับคนที่อายุ 49 ปีย่อมแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พนักงานย่อมจะไม่ระบุผิดไปอย่างมากซึ่งอายุเป็นเรื่องสาระสำคัญในการตรวจสอบความสามารถ ย่อมจะไม่ผิดพลาด ซึ่งจะตรวจสอบกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกับสำเนาทะเบียนบ้านที่มีเพียงตัวผู้ขายรับรองสำเนาถูกต้องเท่านั้นไม่น่าเชื่อถือ สามารถที่จะให้นำฉบับที่ราชการรับรองถูกต้องมาตรวจสอบดูได้ กระนั้นก็ดีเมื่อมีข้อพิรุธตั้งแต่เบื้องต้น การตรวจสอบเอกสารย่อมจะต้องตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อประจักษ์ชัดว่าสามารถตรวจพบเห็นได้เพราะจะต้องนำโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินและโฉนดที่ดินฉบับของทางราชการหรือฉบับหลวงเสนอมาพร้อมกันเพื่อแก้ไขทะเบียนและลงนามซึ่งโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินและโฉนดที่ดินฉบับหลวงนั้นจะจัดทำเป็นคู่ฉบับก้นมีลักษณะและข้อความต่าง ๆ เหมือนกัน โดยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วมีลักษณะที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในเบื้องต้นว่า เป็นแบบพิมพ์คนละประเภทกัน มีชื่อบอกประเภทไว้ให้เห็นได้ คือ ตามโฉนดเอกสารหมาย ล.14 เป็นแบบ น.ส.4 ข. แต่ของจริงตามโฉนดเอกสารหมาย ล.15ไม่มีชื่อแบบพิมพ์ และในด้านหน้าของโฉนดเอกสารหมาย ล.14 มีการลบแก้ไขด้านหน้าของโฉนดเกือบทั้งหมดรอยแก้ไขเห็นได้ชัดเจนไม่มีการเซ็นชื่อของผู้มีอำนาจกำกับ ยิ่งเป็นข้อพิรุธเป็นอย่างมาก ผิดวิสัยที่บุคคลผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบจะไม่ตรวจดู และเมื่อตรวจดูด้านในโฉนดที่ดินซึ่งจะมีการแสดงการกำกับทิศของที่ดิน ซึ่งในทางปฏิบัติตัวอักษรที่ใช้ในการกำกับทิศของที่ดินจะต้องมีตัวอักษรแบบเดียวกันแต่ตามโฉนดเอกสารหมาย ล.14 ใช้กำกับด้วยภาษาไทยว่า ตัว น.ส่วนฉบับหลวงตามเอกสารหมาย ล.15 ใช้อักษรโรมันว่า ตัว เอ็น.เป็นการแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง แล้วจะว่าไม่ใช่สาระสคำญได้อย่างไรนอกจากนี้ยังปรากฏว่า ตราที่ใช้ประทับในเอกสารหมาย ล.14 เป็นของปลอมอีกด้วย ข้อพิรุธดังกล่าวเหล่านี้สามารถตรวจพบได้หากจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังและพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดรอบคอบตามอำนาจหน้าที่ก็สามารถตรวจพบว่า โฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินดังกล่าวมิใช่เอกสารที่ถูกต้องแท้จริง ฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหาย อันเป็นความเสียหายซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สี่ว่าโจทก์เสียหายเพียงใด โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ชำระเงินไปก่อนที่จะมีการจดทะเบียน ผลของความเสียหายจึงมิใช่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และโจทก์มีส่วนในความประมาทโดยตกลงซื้อขายโดยไม่ได้ตรวจดูโฉนดฉบับจริงว่าเป็นอย่างไร จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเต็มจำนวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าการชำระเงินตามสัญญาซื้อขายของโจทก์เป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งหากขั้นตอนของการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่อาจดำเนินต่อไปได้ก็จะไม่มีการชำระเงินดังกล่าว กรณีจึงหาใช่เป็นการชำระเงินไปก่อนดังฎีกาของจำเลยทั้งสอง และการที่โจทก์ทั้งแปดไม่ตรวจสอบกับโฉนดที่แท้จริงเสียก่อนนั้นจะถือว่ามีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยหรือไม่นั้น โจทก์นำสืบว่า เมื่อมีการเสนอขายที่ดินพิพาท โจทก์พอใจแต่ไม่เชื่อใจในความถูกต้อง จึงไม่ทำสัญญาวางมัดจำไว้ก่อน แต่ตกลงนัดทำการโอนทีเดียว อันเป็นการเชื่อมั่นต่อการตรวจสอบของเจ้าพนักงาน จึงมิใช่เป็นความประมาทเลินเล่อที่ไม่ทำการตรวจสอบโฉนดที่ดินที่แท้จริงเสียก่อน เพราะต้องมีการตรวจสอบโดยเจ้าพนักงานอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธความรับผิดในเหตุดังกล่าวหาได้ไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่และโจทก์มีส่วนรับผิดอยู่ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดหรือต้องรับผิดแต่เพียงบางส่วน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า ความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ โดยโจทก์ไม่มีส่วนต้องรับผิดด้วย จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
พิพากษายืน