โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้กับจำเลยตามเอกสารหมายเลข 1 ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงเดียวกันนี้ไว้กับจำเลย กำหนดราคาขายฝาก 3,800,000 บาท ให้ไถ่คืนภายใน 2 ปี ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หลังจากจดทะเบียนขายฝากแล้วโจทก์ได้ชำระสินไถ่ให้แก่จำเลยรวม 570,370.81 บาท โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินมอบให้จำเลยไว้ด้วย ต่อมาโจทก์ไม่สามารถไถ่ที่ดินคืนภายในกำหนด ที่ดินหลุดเป็นสิทธิของจำเลย จำเลยได้นำสัญญากู้มาฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ โจทก์จึงทราบว่าเงิน 570,370.81 บาท ตกเป็นลาภมิควรได้ซึ่งจำเลยต้องคืนให้โจทก์ จึงฟ้องขอบังคับให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อฝากที่ดินจากจำเลยกำหนดสินไถ่4,655,000 บาท เวลาไถ่ 2 ปี ผ่อนชำระสินไถ่ใน 24 เดือน ดังเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โจทก์มอบใบหุ้นบริษัทมีชื่อไว้เป็นประกันด้วย ต่อมาได้จดทะเบียนกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โจทก์ได้ชำระสินไถ่ให้จำเลยแล้วรวม 570,370.81 บาท แล้วผิดนัด สินไถ่ที่ชำระแล้วจึงตกเป็นของจำเลยตามสัญญาฉบับแรก โจทก์เรียกคืนไม่ได้ คำพิพากษาคดีเรื่องเก่าไม่ผูกพันคดีนี้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ทราบผลคดีก่อนนับจากวันที่ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาของศาลแพ่ง ซึ่งนับถึงวันฟ้องคดีนี้คดีขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบใบหุ้นคืนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 เป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกสินไถ่ที่ผ่อนชำระคืนจากจำเลยนั้น เห็นว่าตามคดีหมายเลขแดงที่ 4806/2518 ของศาลแพ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 เป็นโมฆะเพราะไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์จำเลยในคดีนี้ เพราะเป็นคู่ความรายเดียวกันและคดีเกี่ยวเนื่องกัน ที่จำเลยอ้างว่าสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาจะขายฝาก แม้ไม่ได้จดทะเบียนก็ฟ้องร้องบังคับกันได้ โจทก์จำเลยได้ตกลงกันให้ส่วนที่สมบูรณ์แยกออกต่างหากจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ กรณีมิใช่เรื่องลาภมิควรได้และโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่าสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 กำหนดราคาสินไถ่ไว้เป็นเงิน 4,655,000 บาท แต่สัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.2ซึ่งโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนตามกฎหมาย มิได้กำหนดราคาสินไถ่ เพียงแต่กำหนดราคาขายฝากไว้ โจทก์จึงมีสิทธิไถ่ตามราคาที่ขายฝาก คือ 3,800,000 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 499 ฉะนั้นราคาสินไถ่ที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นโมฆะและทำให้รายการผ่อนชำระราคาสินไถ่ตามสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะไปด้วย ทั้งไม่สามารถแยกออกต่างหาก ให้เป็นส่วนที่สมบูรณ์ได้เพราะหากผ่อนชำระตามรายการดังกล่าวก็จะเป็นการชำระเงิน 4,655,000บาท ตามจำนวนที่เป็นโมฆะ อนึ่งเงินสินไถ่จำนวน 570,370.81 บาท ที่จำเลยรับไว้ก็เพื่อผ่อนชำระราคาทรัพย์ที่ขายฝากตามสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.2 นั่นเอง เมื่อโจทก์ไม่สามารถจะไถ่ที่ดินที่ขายฝากคืนเพราะเกินกำหนดเวลาไถ่ จำเลยผู้รับซื้อฝากต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนใบหุ้นกับใบโอนหุ้นที่โจทก์มอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันนั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนใบหุ้นกับใบโอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องแล้ว จึงไม่มีข้อที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 570,370.81 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์