โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างและตัวแทนของโจทก์ได้รับมอบให้มีหน้าที่บริหารร้านไทยอุตสาหกรรมกลางโดยจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าหมวดการเงินมีหน้าที่รับผิดชอบเก็บรักษาเงินอันได้จากการขายของหน้าร้าน รับผิดชอบรักษาเงินที่ส่งเป็นรายได้ของร้านทำการเบิกจ่ายเงินนำเงินและใบสำคัญคู่จ่ายส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทั่วไปมีหน้าที่รับผิดชอบทั่วไป และบังคับบัญชาจำเลยที่ 1 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2497 กรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่าเงินของร้านในความดูแลรักษาของจำเลยทั้งสองขาดหายไประหว่างวันที่ 3 เมษายน 2493 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2495 เป็นเงิน 28,804.34 บาท วันที่ 10 กันยายน 2497 คณะกรรมการสอยสวนเสนอว่า จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงทราบว่า จำเลยทั้ง 2 ผิดสัญญาจ้างและสัญญาตัวแทนทั้งนี้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้าง หรือสัญญาตัวแทนโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายและระเบียบแบบแผน ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมด้วยเพราะจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนข้อบังคับของโจทก์ ไม่เอาใจใส่ควบคุมตรวจตราจำเลยที่ 1 รักษาเงิน ขอให้ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้หลายประการ รวมทั้งสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องเข้าใจได้แล้วว่าเงินรายได้ของร้านมีบัญชีแสดงจำนวนเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 แต่แล้วปรากฏว่าเงินขาดหายไปจากบัญชี จำเลยย่อมจะเข้าใจและต่อสู้คดีได้ว่ามีเงินอยู่ถูกต้องตรงกับบัญชีหรือขาดจากบัญชีไปจำนวนเท่าไร ส่วนรายการละเอียดว่าเงินที่ขาดจากบัญชีเป็นเงินได้มาจากการขายของอะไร ประเภทใดบ้าง เป็นรายละเอียดที่ไม่จำต้องกล่าวในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนในเรื่องอายุความนั้น แม้ถ้อยคำในฟ้องของโจทก์บางตอนใช้คำว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย แต่ฟ้องก็ได้บรรยายรายละเอียดว่ากระทำผิดหน้าที่อันเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างแรงงาน เท่ากับกล่าวหาว่าจำเลยมีหน้าที่จะต้องกระทำอยู่ตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วละเว้นไม่กระทำหรือกระทำโดยไม่ถูกต้องหรือบกพร่องต่อหน้าที่อันควรต้องกระทำตามสัญญา ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าเป็นฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน จะใช้อายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ไม่ได้ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่