โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่ประทับฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 1 ปี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะข้อ 2.1 และ 2.2 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยอ้างว่าได้นำเงินตามจำนวนที่ระบุในเช็คไปชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ศาลชั้นต้นยกคำร้อง เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจากที่ปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเสียเอง จึงเป็นการไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และศาลฎีการับคำร้องดังกล่าวไว้เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งพร้อมคำพิพากษา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แม้จะเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่สามารถทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 สละปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกา ข้อ 2.1 และ 2.2 อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามจำนวนที่ระบุในเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่เป็นเพียงค่าภาษีเฉพาะต้นเงิน 1,264,000 บาท แต่ยังไม่ได้ชำระค่าภาษีในส่วนของเงินเพิ่ม 1,061,928 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ถือว่าคดียังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรแก้ไขโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 โดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 แต่เพื่อให้จำเลยที่ 2 หลาบจำ จึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์