โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยาน เด็กหญิง ธ. ผู้เสียหาย โดยนาง อ. ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายรวมเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม จำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหาย (ผู้ร้อง) ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนอาญาออกจากสารบบความ สำหรับคดีในส่วนแพ่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเพื่อให้บุคคลที่กฎหมายกำหนดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วส่งถ้อยคำสำนวนคืนศาลฎีกา และศาลฎีกามีคำสั่งตั้งนาง จ. ภริยาจำเลย เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง โดยจำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง ถือได้ว่าจำเลยอุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทั้งในส่วนคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาด้วย ซึ่งในส่วนของคดีอาญานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำความผิดให้ลงโทษจำคุก ต่อมาเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนอาญาออกจากสารบบความ สำหรับการพิพากษาคดีในส่วนแพ่งที่ให้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น เมื่อศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยจากสารบบความแล้ว ศาลฎีกาจะพิพากษาคดีในส่วนอาญาเกี่ยวกับจำเลยต่อไปอีกไม่ได้ จึงถือว่าคดีในส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุดและจะนำข้อเท็จจริงในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดมารับฟังในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น ๆ ย่อมไม่ได้ เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้น จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่จากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งทางนำสืบของโจทก์นอกจากมีผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องเบิกความยืนยันว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องแล้ว หลังจากเกิดเหตุในคืนเดียวกันผู้ร้องก็ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวในนาง อ. ซึ่งเป็นมารดาทราบ แม้ในครั้งแรกมารดาผู้ร้องจะยังไม่เชื่อในคำบอกเล่าของผู้ร้องก็ตาม แต่ภายหลังเมื่อผู้ร้องไม่ยอมไปโรงเรียนโดยยังยืนยันว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้อง มารดาผู้ร้องจึงได้พาผู้ร้องไปพบนาย ป. ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนที่ผู้ร้องเรียนอยู่ ผู้ร้องก็ยังได้เล่าเหตุการณ์ให้นาย ป. ฟังโดยยืนยันว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้อง หลังจากนั้นจึงได้มีการให้ผู้ร้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายโดยมีแพทย์หญิง อ. แพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้ร้องยืนยันว่าพบบาดแผลด้านในอวัยวะเพศของผู้ร้องซึ่งมีรอยช้ำเนื่องจากการกระแทก และมีความเห็นว่าพบหลักฐานว่าอาจจะผ่านการร่วมประเวณี นอกจากนี้ผู้ร้องยังได้ให้การต่อพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนยืนยันข้อเท็จจริงสอดคล้องกับที่ผู้ร้องเบิกความ รวมทั้งยังสอดคล้องต้องกันกับพยานอื่นดังที่ได้กล่าวมาในข้อสาระสำคัญ โดยไม่ปรากฏว่าพยานดังกล่าวทั้งหมดมีข้อขัดแย้งหรือสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะมาเบิกความเพื่อใส่ร้ายปรักปรำจำเลยแต่อย่างใด ที่จำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่บ้านของตนเองซึ่งอยู่ห่างจากบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 6 กิโลเมตร โดยไม่ได้ออกไปที่ใดนั้น คงมีเพียงจำเลยและนาง จ. ภริยาจำเลยมาเบิกความเท่านั้น โดยไม่มีพยานอื่นที่น่าเชื่อถือมาเบิกความยืนยันด้วย ส่วนนาย อ. พยานจำเลยอีกปากหนึ่งก็เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุตนเองมิได้อยู่ที่บ้านเกิดเหตุแต่อย่างใด จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือที่จะรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือในการรับฟังมากกว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้ร้อง จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องจากการทำละเมิดดังกล่าว สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น เห็นว่า ขณะถูกทำละเมิดผู้ร้องยังเป็นเด็กมีอายุเพียง 10 ปีเศษ อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจ รวมถึงความเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงในอนาคตอันเป็นการยากต่อการแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนดังเดิมได้ ค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดจึงนับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยมีนาง จ. เข้ามาเป็นคู่ความแทน ก็เพียงเข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแทนจำเลยเท่านั้น ศาลจึงต้องพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง และชั้นบังคับคดีก็บังคับเอาจากกองมรดกของจำเลย
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้นถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ผู้ร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ