โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่แผนกบุคคล ต่อมาโจทก์โอนย้ายจำเลยที่ 1 ไปทำหน้าที่พนักงานขาย ครั้งหลังสุดโจทก์แต่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้ทำหน้าที่ผู้จัดการขาย สาขาสุขาภิบาล 2 มีหน้าที่ขายและควบคุมดูแลการขายรถยนต์ใหม่ของพนักงานขายสาขาสุขาภิบาล 2 ตลอดจนมีหน้าที่นำส่งเงินได้จากการขายให้แก่โจทก์ ในการทำงานของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขณะจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง ระหว่างเดือนตุลาคม 2539 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติขายรถยนต์ของโจทก์ให้แก่ลูกค้าไปโดยฝ่าฝืนระเบียบและวิธีการขายของโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,489,766 บาท แต่จำเลยที่ 1 นำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์เพียง 1,194,238 บาท ยังขาดอยู่อีก 12,295,528 บาท ภายหลังโจทก์ตรวจสอบพบ จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ หลังจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง 527,362 บาท วันที่ 16 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 1 จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับใหม่ ตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 2,024,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนเป็นเงิน 51,830 บาท โจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 15,035,018 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 11,716,336 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 2,180,511 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,972,570 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 แถลงต่อศาลว่า คดีตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามใบสมัครงานลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ซึ่งใบสมัครงานดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 สมัครงานกับโจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล และโจทก์รับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่แผนกบุคคล ดังนั้น เมื่อภายหลังโจทก์ได้เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายและผู้จัดการแผนกการขายจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ทำความเสียหายแก่โจทก์ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกขาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดระเบียบอย่างไรในการขายรถยนต์แต่ละคัน คำสั่งโอนย้ายพนักงานเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และ 6 และหนังสือรับสภาพหนี้ เป็นเอกสารที่โจทก์และจำเลยที่ 1 สมคบกันทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องและไม่สุจริตเพื่อจะฉ้อฉลให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 11,716,336 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 11,025,000 บาท นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2541 ของต้นเงิน 1,270,528 บาท นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2541 และของต้นเงิน 11,716,336 บาท นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 3,318,682 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่แผนกบุคคล ต่อมาโจทก์โอนย้ายจำเลยที่ 1 ไปทำหน้าที่พนักงานขายตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการแผนกขาย สาขาสุขาภิบาล 2 ขณะจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง ระหว่างเดือนตุลาคม 2539 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์ของโจทก์ให้แก่ลูกค้ารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,489,766 บาท แต่จำเลยที่ 1 นำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์เพียง 1,194,238 บาท ภายหลังโจทก์ตรวจสอบพบ จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ 2 ฉบับ คือฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2540 และฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2540 จำนวน 11,025,000 บาท และจำนวนเงิน 1,270,528 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ แต่หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียง 527,362 บาท ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 1 จึงตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับใหม่แก่โจทก์โดยจะชำระเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อโจทก์ แต่กลับชำระให้โจทก์เพียง 51,830 บาท แล้วไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โดยมีหนี้ค้างชำระจำนวน 11,716,336 บาท การทำงานของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 อนุมัติการขายรถยนต์ของโจทก์ไปหลายคันโดยผิดระเบียบและฝ่าฝืนวิธีการขายรถยนต์ โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีระเบียบเรื่องการขายรถยนต์อย่างไร แล้วจำเลยที่ 1 ทำผิดระเบียบปฏิบัติอย่างไร ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถแก้คดีโจทก์ได้ถูกต้องนั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์บรรยายว่าในขณะที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้จัดการแผนกขายฝ่ายขายรถยนต์ระหว่างเดือนตุลาคม 2539 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 1 อนุมัติการขายรถยนต์ของบริษัทโจทก์ไปหลายคันโดยผิดระเบียบและฝ่าฝืนวิธีการขายรถยนต์ให้แก่ลูกค้าไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,489,766 บาท แต่จำเลยที่ 1 นำเงินส่งมอบโจทก์เพียง 1,194,238 บาท เท่านั้น ยังขาดอีกจำนวน 12,295,528 บาท และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับและทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ การทำงานของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และตามคำขอท้ายฟ้องได้ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ทำผิดระเบียบและฝ่าฝืนวิธีการขายรถยนต์ของโจทก์โดยขายรถยนต์ให้ลูกค้าได้เงินมาแล้วไม่ส่งมอบโจทก์จนครบถ้วน อันเป็นสภาพแพ่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับที่ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินคืน ส่วนรายละเอียดว่าเป็นการผิดระเบียบข้อใดสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการต่อไปว่าตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาจ จ.3 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล ต่อมาโจทก์เปลี่ยนตำแหน่งให้จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขาย และโจทก์ให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันต่อไป การเปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าวเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอม เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 ระบุให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ซึ่งสมัครเข้าทำงานในบริษัทโจทก์ตามใบสมัครงานลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 และข้อ 2 ระบุให้จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยครบถ้วนหากในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์ ถ้าได้กระทำการผิดกฎหมายหรือได้กระทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์หรือเป็นหนี้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ขอสละสิทธิของผู้ค้ำประกันที่มีอยู่ตามกฎหมายในการที่จะขอให้โจทก์เรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ก่อน จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ก่อให้เกิดขึ้นสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในใบสมัครงานลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ซึ่งเมื่อพิจารณาใบสมัครงานลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 เอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าจำเลยที่ 1 สมัครงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล ดังนั้น ความรับผิดที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ในขณะทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลตามที่จำเลยที่ 2 ระบุในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 ดังกล่าว แม้ว่าตามสัญญาค้าประกันเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมและตกลงด้วยว่าหากโจทก์โยกย้ายแต่งตั้ง สับเปลี่ยน หรือถอดถอนจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับบริษัทในเครือหรือสำนักงานสาขาแห่งใดให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันนี้มีผลบังคับได้เช่นเดิมตลอดไป ก็มีความหมายเพียงว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลตามที่ค้ำประกันไว้เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าปี 2526 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ย้ายจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่แผนกบุคคลไปทำหน้าที่พนักงานขาย มีหน้าที่เกี่ยวกับการจำหน่ายรถยนต์ซึ่งรวมถึงการรับจ่ายเงินค่าสินค้าและอื่นๆ อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยที่ 2 มากขึ้นเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติการจำหน่ายรถยนต์โดยผิดระเบียบและฝ่าฝืนวิธีการจำหน่าย แล้วทำหนังสือสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ในขณะทำหน้าที่พนักงานขาย ตำแหน่งผู้จัดการแผนกขาย จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 2 อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง