คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทสยามยูนิโซล จำกัด ลูกหนี้ ตั้งบริษัทเอส.ยู.แอล.แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2543 และเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีบริษัทเอส. ยู.แอล.แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2544 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนได้สิ้นสุดลงในวันที่ 27 เมษายน 2549 ปรากฏว่าไม่สามารถดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จตามแผน ตามรายงานเจ้าหน้าที่ส่วนจัดกิจการทรัพย์สินและกำกับดูแลการฟื้นฟู สำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549ขอให้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง
เจ้าหนี้รายที่ 100 ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และให้ผู้บริหารเดิมของลูกหนี้เข้าไปจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป
ศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง
ลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้ว่า มีเหตุสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลพิจารณาตามพยานหลักฐานในสำนวน และฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้และคำคัดค้านของลูกหนี้ และใช้ดุลพินิจมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่ลูกหนี้ยังอยู่ในสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่อาจชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ย่อมเป็นเรื่องที่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย และศาลชอบที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่หากลูกหนี้พ้นจากสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วหรืออาจชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ คดีนี้ได้ความจากรายงานเจ้าหน้าที่ส่วนจัดกิจการทรัพย์สินและกำกับดูแลการฟื้นฟู สำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ว่า ได้รับแจ้งจากผู้ร้องขอที่ 2 ว่าลูกหนี้หยุดดำเนินกิจการแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 จากการตรวจสอบแผนและการปฏิบัติงานของผู้บริหารแผนทุกรอบ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ปรากฏว่าลูกหนี้มีการลดทุนและเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ตามแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แผนจัดกลุ่มเจ้าหนี้ออกเป็น 10 กลุ่ม รวมเป็นหนี้ 3,600,789,375.48 บาท หนี้สินเชื่อใหม่ตามแผนส่วนที่ 1 และที่ 2 รวม 77,311,892.90 บาท เป็นหนี้ตามแผนรวมทั้งสิ้น 3,678,101,268.38 บาท คิดเป็นร้อยละ 100 แต่ผู้บริหารแผนชำระหนี้ได้เพียง97,311,892.90 บาท คิดเป็นร้อยละ 1.01 มีการปลดหนี้รวม 605,374,765.36 บาท คิดเป็นร้อยละ 16.46 ยังคงเหลือหนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 รวมทั้งสิ้น 2,975,414,610.12 บาท คิดเป็นร้อยละ 80.90 ซึ่งผู้บริหารแผนไม่สามารถชำระหนี้ตามแผนได้ ส่วนความสำเร็จตามแผนมี 3 ประการ ได้แก่ 1. เจ้าหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกลงแก้ไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับแผน 2. เจ้าหนี้การค้ากลุ่มที่ 9 ได้รับชำระหนี้หรือตกลงปลดหนี้ตามแผนทั้งหมดให้แก่ลูกหนี้ และ 3. ลูกหนี้สามารถชำระคืนต้นเงินตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน ติดต่อกันภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เว้นแต่มีมติเสียงข้างมากของเจ้าหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กำหนดเป็นอย่างอื่น แต่ผู้บริหารแผนไม่ได้ส่งสำเนาสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่แก้ไขให้สอดคล้องกับแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้บริหารแผนไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้การค้ากลุ่มที่ 9 จำนวน 124,058,027.53 บาท ซึ่งพ้นกำหนดชำระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2547 และยังไม่ได้รับรายงานว่าเจ้าหนี้รายใดตกลงปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ จึงสรุปได้ว่าผู้บริหารแผนไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามแผน สำหรับผลการดำเนินงานทางการเงินของลูกหนี้ได้ความว่า ลูกหนี้เป็นผู้ผลิตพื้นรองเท้าและรองเท้ากีฬา โดยผลิตพื้นรองเท้าให้แก่บริษัทวงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และผลิตพื้นรองเท้าภายใต้เครื่องหมายการค้าไนกี้ (Nike) หลังจากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ผลิตให้แก่กลุ่มบริษัทแพน แต่มีรายได้ไม่เพียงพอ จึงมีการลดจำนวนพนักงานซึ่งมีผลให้ผลิตไม่ได้ตามเป้าหมายทั้งด้านคุณภาพและจำนวน ประกอบกับไม่มีสถาบันการเงินใดอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกหนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ จนลูกหนี้ขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนได้ ผลการดำเนินงานที่ปรากฏตามรายงานของผู้บริหารแผนสรุปได้ว่า สินทรัพย์ในปี 2545 จำนวน 346,291,292 บาท แต่ในปี 2548 ลดลงเหลือจำนวน 232,480,744 บาท ขณะที่หนี้สินในปี 2545 จำนวน 3,554,856,781 บาท แต่ในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,584,149,413 บาท ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2548 ลูกหนี้มีรายได้จากการขายและรับจ้างผลิตลดลงตลอดจากปี 2546 จำนวน 77,260,000 บาท แต่ในปี 2548 จำนวน 66,950,000 บาท ซึ่งลดลงเป็นจำนวน 10,310,000 บาท และระยะเวลาตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2548 ลูกหนี้มีผลการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2546 ขาดทุนจำนวน 56,261,961 บาท ในปี 2547 ขาดทุนจำนวน 49,762,880 บาท และในปี 2548 ขาดทุนจำนวน 38,730,000 บาท จากรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว แสดงว่าลูกหนี้ยังไม่พ้นจากสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว กิจการขาดทุนและไม่มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ หากยังคงดำเนินกิจการต่อไปลูกหนี้ก็ไม่อาจฟื้นฟูกิจการจนพ้นจากภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ กรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง ข้อที่ลูกหนี้อุทธรณ์ว่า ผู้บริหารแผนเลิกจ้างพนักงานของลูกหนี้ทั้งหมดและมีคำสั่งปิดกิจการของลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2548 ก่อนที่การฟื้นฟูกิจการจะครบกำหนดเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามแผน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ ผู้บริหารแผนจงใจไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้การค้ากลุ่มที่ 9 จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ เพราะต้องการให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด และนำทรัพย์สินของลูกหนี้อันเป็นหลักประกันออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่ผู้ร้องขอที่ 2 เพียงผู้เดียว เห็นว่า ข้ออุทธรณ์ของลูกหนี้ไม่อาจรับฟังได้ว่าลูกหนี้พ้นจากภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว และสามารถที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุด แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ศาลต้องมีดุลพินิจมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 90/70 วรรคสอง หากมีกรณีดังที่จำเลยกล่าวอ้างจริง ก็ชอบที่จะไปดำเนินการต่างหากจากคดีนี้ ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดชอบแล้ว อุทธรณ์ของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ