โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นฎีกาจำเลยอ้างว่า จำเลยเคยเป็นอาสาสมัครทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ 45 จำเลยซื้ออาวุธปืนของกลางจากโครงการสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งโจทก์มิได้ยื่นคำแก้ฎีกาให้เห็นเป็นอย่างอื่น ในชั้นนี้จึงฟังได้ว่าที่จำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองนั้น คงเนื่องมาจากจำเลยได้ซื้อจากโครงการสวัสดิการข้าราชการจริง ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะใช้อาวุธปืนของกลางก่ออาชญากรรมใด จำเลยเองก็ให้การรับสารภาพ อันแสดงว่าจำเลยยังรู้สำนึกในความผิดของตน พฤติการณ์แห่งคดียังไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขฟื้นฟูให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและไม่หวนกลับไปกระทำความผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมามีว่า กรณีมีเหตุไม่ริบอาวุธปืนของกลางหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะได้รับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ซึ่งมีอายุ 6 เดือน นับแต่วันออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 23 (2) แล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการเพื่อออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ภายในอายุใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) เช่นนี้ ถือได้ว่าขณะจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ อาวุธปืนของกลางจึงเป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งว่าเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทางทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ อันเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด ต้องริบเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ด้วยเหตุนี้จำเลยจะอ้างเหตุว่า ภายหลังเกิดเหตุได้มีการจดทะเบียนให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางถูกต้องเรียบร้อยแล้วมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อมิให้ริบอาวุธปืนของกลางไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ริบอาวุธปืนของกลางมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 15,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้ใบรับอนุญาต ปรับ 5,000 บาท รวมปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9