ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดในการดำเนินคดี และผลของการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความ
พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 35 กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของนิติบุคคล ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจึงมีอำนาจดำเนินการใด ๆ แทนนิติบุคคลอาคารชุดได้ แม้ว่าในข้อบังคับของโจทก์จะกำหนดให้คณะกรรมการนิติบุคคลของโจทก์มีอำนาจดำเนินคดีแก่บุคคลภายนอก หากมีการละเมิดจากการกระทำของบุคคภายนอกในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง การเรียกร้องค่าเสียหาย และการเรียกเอาทรัพย์คืนนั้น ข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวก็หาลบล้างอำนาจของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดไม่
ข้อตกลงในการประนีประนอมยอมความระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงจะขอถอนฟ้องคดีอาญาในศาลชั้นต้นทุกคดี ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยการถอนฟ้องคดีอาญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นอกจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงเชียงใหม่ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย ส่วนจำเลยก็ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาหมิ่นประมาท ต่อมาคดีที่ฟ้องศาลแขวงเชียงใหม่ได้มีการประนีประนอมยอมความกันตามข้อตกลงดังกล่าว โดยจำเลยจะต้องถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่โจทก์ถอนฟ้องคดีทำให้เสียทรัพย์ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมถอนฟ้องคดีที่ศาลชั้นต้นในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องของจำเลย ฉะนั้นการที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญาที่ศาลแขวงเชียงใหม่แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทเป็นการไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)