โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ตามมาตรา 4, 7, 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 67 จำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) 67 (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายสุทธินันท์ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในฎีกาของจำเลยหน้าที่ 5 บรรทัดที่ 12 ถึงหน้าที่ 16 บรรทัดที่ 13 และศาลชั้นต้นไม่ส่งคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2548 ไปให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นท่านอื่นและในศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2548 ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 คนใดคนหนึ่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น เมื่อนายสุทธินันท์ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในฎีกาของจำเลยหน้าที่ 5 บรรทัดที่ 12 จนถึงหน้าที่ 6 บรรทัดที่ 13 ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งคำร้องของจำเลยไปให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนอื่นที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาต่อไปก่อนจึงมีคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยโดยไม่ได้ส่งคำร้องของจำเลยดังกล่าวพร้อมสำนวนไปให้ผู้พิพากษาคนอื่นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาฎีกาของจำเลยส่วนที่นายสุทธินันท์ ไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว ปรากฏว่าจำเลยฎีกาว่า หากฟังว่าจำเลยเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น ซึ่งประเด็นที่ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และโจทก์มิได้อุทธรณ์ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แม้นายสุทธินันท์หรือผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือในศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กรณีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องของจำเลยพร้อมสำนวนไปให้ผู้พิพากษาคนอื่นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่นายสุทธินันท์ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาอีก...
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.