คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2546 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องว่าได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองในคดีนี้มาจากโจทก์ ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ทิ้งคำร้อง และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับแรกว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้มาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับที่สองว่า แม้โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่โจทก์ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 745 ผู้ร้องจึงขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากในชั้นส่งหมายเรียกสำเนาคำร้องผู้ร้องทิ้งคำร้อง ไม่แถลงชื่อและที่อยู่ของผู้ชำระบัญชีโจทก์ตามนัด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 600,778 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 600,000 บาท นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2537 และของต้นเงิน 778 บาท นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินจำนวน 15,000 บาท มาหักออกจากยอดหนี้ด้วย หากไม่ชำระให้ยึดห้องชุดเลขที่ 181/174 อาคารชุดพรานนกคอนโดมิเนียม นำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ คดีเป็นที่สุด จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 13 สิงหาคม 2541 ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2546 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องว่า เดิมใช้ชื่อว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด โดยโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองในคดีนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด แล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ วันที่ 17 กันยายน 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ทิ้งคำร้อง ไม่มาศาลตามนัด ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับแรกว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตลอดจนหลักประกันที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสองในคดีนี้มาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2547 ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ว่า ในชั้นพิจารณาล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) แล้วโจทก์ไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดี จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีได้อีกต่อไป แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาบังคับคดีก็มีสิทธิเท่าที่โจทก์มีอยู่ กรณีไม่มีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับที่สองว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตลอดจนหลักประกันที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสองในคดีนี้มาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 แม้โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่โจทก์ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ให้จำหน่ายคดีเนื่องจากในชั้นส่งหมายเรียกสำเนาคำร้อง ผู้ร้องทิ้งคำร้อง ไม่แถลงชื่อและที่อยู่ของผู้ชำระบัญชีตามนัด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การยื่นคำร้องฉบับที่สามของผู้ร้องในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ฉบับแรกลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป กรณีไม่มีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนฉบับที่สองลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี โดยมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีเนื่องจากผู้ร้องทิ้งคำร้อง คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่งดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งยกคำร้องเพราะฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์เดิมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำร้องของผู้ร้องฉบับที่สามลงวันที่ 30 กันยายน 2559 อ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า แม้คดีนี้จะยังไม่มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ตาม แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับที่สามนี้ จึงเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิในฐานะผู้รับจำนอง ถือว่าการร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องในฉบับที่สามนี้เป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิโดยอาศัยเหตุที่มาคนละเหตุกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับที่สามจึงอาศัยเหตุที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างจากคำร้องฉบับแรก การยื่นคำร้องฉบับที่สามของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับที่สามเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคำร้องฉบับแรก ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องที่ว่า มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์เดิมหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าวแต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ทั้งนี้โจทก์เดิมจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ประกอบกับการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์นั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 (เดิม) เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิการรับจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ