ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจโจทก์ร่วม/ผู้จัดการมรดก และอำนาจศาลในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนอกเหนือจากประเด็นที่คู่ความยกขึ้น
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านพักของโจทก์ร่วมแล้วทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมและในฐานะมารดาของผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 2 ถึงแก่ความตายด้วยการผูกคอตาย ไม่ได้ตายเพราะถูกจำเลยทั้งสองกับพวกทำร้ายตามฟ้อง ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ผู้บุพการีจะจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่ 2 ในการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดฐานบุกรุกที่โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มี่โทษหนักสุด เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษและคุมความประพฤติ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยทั้งสองที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 15