โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยนำเงินยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยกำหนดนโยบายสั่งให้จังหวัดต่างๆ รวมทั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการและเงินยืมดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ไปดำเนินการให้ยืมเงินไม่มีดอกเบี้ยแก่โรงสีหรือผู้ซื้อข้าวรายย่อยไปรับซื้อข้าวจากชาวนาให้สูงกว่าราคาท้องตลาด เมื่อดำเนินการตามโครงการในแต่ละปีเสร็จแล้ว จังหวัดต่างๆ ต้องเรียกเงินจากผู้กู้ส่งคืนโจทก์ที่ 1 เพื่อคืนแก่กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรต่อไป โครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 โจทก์ที่ 1 กำหนดนโยบายและระเบียบแบบแผนให้ปฏิบัติว่าผู้กู้ต้องมีหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารสำหรับโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2529/2530 โจทก์ที่ 1 กำหนดนโยบายและระเบียบแบบแผนปฏิบัติว่าการที่จังหวัดหนองคายจะให้เงินยืมปลอดดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการไม่ว่าจะเป็นโรงสี กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรหรือผู้ซื้อข้าวรายย่อยจะต้องมีหลักทรัพย์ เช่น หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร หรือหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าวงเงินที่จังหวัดจะให้ยืม หรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ ให้จังหวัดหนองคายพิจารณาใช้หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารเป็นอันดับแรก หากจะใช้หลักทรัพย์อื่นให้อยู่ในดุลพินิจของจังหวัดตรวจสอบว่า เชื่อถือได้และมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าวงเงินที่จังหวัดจะให้ยืม ให้จังหวัดระมัดระวังเรื่องหลักประกันเป็นพิเศษ อย่าให้เกิดความเสียหาย โจทก์ที่ 1 อนุมัติจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนให้โจทก์ที่ 2 รับไปดำเนินการตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2530 เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 2 เป็นปลัดจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 3 เป็นนายอำเภอเมืองหนองคาย จำเลยที่ 4 เป็นจ่าจังหวัดหนองคาย มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการให้เอกชนกู้ยืมเงินตามโครงการดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบ้านม่วง มีหน้าที่ประเมินราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเขตอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการดังกล่าวและร่วมกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2529 จำเลยที่ 1 ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 เป็นเงินจำนวน 3,500,000 บาท ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 1 ให้ห้างหุ้นส่วน จำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกู้เงินทุนหมุนเวียนโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 เป็นเงินจำนวน 3,500,000 บาท ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 1 ให้หุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกู้เงินทุนหมุนเวียนโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิตปี 2529/2530 เป็นเงินจำนวน 8,000,000 บาท การกู้ยืมเงินดังกล่าวจากโจทก์ที่ 2 นั้น จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันให้จำเลยที่ 6 เป็นผู้ขอเข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตดังกล่าวและขอกู้เงินปลอดดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 2 ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดภูพานพัฒนกิจไทย และร่วมกันให้จำเลยที่ 7 หุ้นส่วนห้างหุ้นส่วน จำกัด ภูพานพัฒนกิจไทยเป็นผู้ค้ำประกันโดยนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตั้งอยู่ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำนวน 62 แปลง มาให้โจทก์ที่ 2 ยึดไว้เป็นหลักประกัน จำเลยที่ 7 แจ้งต่อโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินตามราคาท้องตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บเงินธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไร่ละ 160,000 บาท อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียงไร่ละ 16,000 บาท หลักทรัพย์ดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ ไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินจากโจทก์ที่ 2 ได้ จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบ้านม่วง มีหน้าที่ประเมินราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเขตอำเภอบ้านม่วง ได้ประเมินราคาที่ดินดังกล่าวสูงกว่าความเป็นจริงมาก จำเลยที่ 1 มิได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวนำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารมาเป็นหลักประกัน กลับยอมให้ผู้กู้ใช้หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำกว่าจำนวนเงินที่ให้กู้เป็นหลักประกันเป็นการขัดต่อระเบียบแบบแผนที่โจทก์ทั้งสองได้กำหนดไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นการร่วมกันจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจำเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้สนับสนุน หรือมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์ให้ดีไม่เรียกหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ให้เพียงพอ ไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้รับเงินจำนวน 15,000,000 บาท การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 15,000,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมกันคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 รับไปแต่ละงวดจนถึงวันฟ้องหักค่าดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 7 นำมาชำระเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2531 จำนวน 2,000,000 บาท แล้ว รวมเป็นดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 19,804,457.05 บาท โจทก์ที่ 1 รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่พึงใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2538 โจทก์ที่ 2 รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 19,804,457.05 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 15,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย กู้เงินทุนหมุนเวียนโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือก รวมเป็นเงิน 15,000,000 บาท จริง แต่ไม่ได้กระทำขัดต่อระเบียบแบบแผนของโจทก์ทั้งสองไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และมิได้ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 62 แปลง ของจำเลยที่ 7 นำมาค้ำประกันมีราคาไร่ละ 160,000 บาท เพราะราคาที่ดินขณะนั้นมีราคาสูง โครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกของโจทก์ที่ 1 ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารเสมอไป จำเลยที่ 1 อาจพิจารณาหลักทรัพย์อื่นที่น่าเชื่อถือก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 ยอมรับหลักประกันที่ดินดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 6 และที่ 7 เรียกเงินคืนจำนวน 13,766,575.32 บาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นหนี้รายเดียวกันกับคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ โจทก์ทั้งสองคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 13,000,000 บาท คิดได้เพียง 5 ปี ส่วนที่เกินเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดหนองคาย ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นกรรมการตรวจสอบหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 7 ที่นำมาค้ำประกันตามสัญญากู้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสภาพที่ดิน ราคาประเมิน นายอำเภอบ้านม่วงยืนยันราคาประเมินที่ดินมายังผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายว่า ราคาประเมินไร่ละ 160,000 บาท จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าราคาที่ดินราคาประเมินไร่ละ 160,000 บาท ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ได้ทุจริตไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับความเสียหายเพราะมีที่ดินของจำเลยที่ 7 ที่ยึดเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน และโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นจ่าจังหวัดหนองคายไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 เป็นเพียงแค่ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ส่วนโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2529/2530 นั้น จำเลยที่ 4 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากในระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2530 จำเลยที่ 4 เข้าศึกษาในโรงเรียนนายอำเภอเป็นเวลา 8 เดือน โจทก์ทั้งสองไม่ได้เสียหายและฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกตามฟ้องและได้ทำการประเมินราคาที่ดินของจำเลยที่ 7 ด้วยความถูกต้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 6 เป็นผู้กู้ยืมเงินและจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามฟ้องจริง แต่ไม่ได้กระทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจคิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,303,528.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ประเด็นข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 มีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยคดีมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นข้อนี้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงประเด็นเดียวเรื่องอายุความ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ อีก 4 ประเด็น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาเสร็จแล้ว ในการพิพากษาคดี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้น และวินิจฉัยประเด็นพิพาทประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยทั้งเจ็ดขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ อีก โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านว่า คดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานละเมิดแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องมาครบถ้วนแล้วด้วย ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ แม้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คัดค้านประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ ไว้ เนื่องจากประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ นั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งเจ็ดได้สืบพยานมาจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ที่ยังมิได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นๆ ที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้คดีเสร็จไปเสียทีเดียวโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก็ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการวินิจฉัยคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ในประเด็นข้อแรกนี้ จึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ประการต่อมาเรื่องอายุความนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า นายบรรหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ได้ลงนามรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยตัดเงินเดือนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามเอกสารหมาย ล.13 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 จึงถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้รู้ หรือควรรู้ถึงตัวผู้ที่จะต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้อง คือวันที่ 11 ตุลาคม 2539 คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว นั้น เห็นว่า แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้แทนของโจทก์ที่ 1 จะมีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 ก็ตาม แต่คำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวก็สรุปการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการทุจริต หากแต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องเท่านั้น โจทก์ที่ 2 จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งตามคำสั่งที่ 3713/2535 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 แต่ผลการสอบสวนก็ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2538 อธิบดีกรมการปกครองจึงมีบันทึกเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปความได้ว่า กองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครองมีความเห็นว่า ผลการสอบสวนมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินการคดีอาญาและฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามรับทราบวันที่ 14 ตุลาคม 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งว่า ความเห็นของกองสอบสวนและนิติการมิใช่ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งซึ่งตั้งขึ้นตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงจากเอกสารดังกล่าว จึงคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน และเป็นการขยายอายุความคดีละเมิด 1 ปี ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่รับฟังข้อเท็จจริงจากเอกสารที่อธิบดีกรมการปกครองมีบันทึกเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปความว่า กองการสอบสวนและนิติการมีความเห็นว่า ผลการสอบสวนมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาและฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องได้ นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนเพื่อชี้ขาดในประเด็นว่า โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันใด อันเป็นวันเริ่มนับกำหนดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง การรับฟังข้อเท็จจริงจากเอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน และหาเป็นการขยายอายุความละเมิด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกากล่าวอ้างว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 แล้ว กระทรวงมหาดไทยยังตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งอีก เป็นการพยายามขยายอายุความฟ้องคดีละเมิดออกไปอีกนั้น เห็นว่า การสอบสวนทางวินัยเพราะเหตุบกพร่องต่อหน้าที่ราชการนั้น เป็นคนละเรื่องกับการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง เพราะหลักเกณฑ์ความรับผิดทางวินัยกับความรับผิดทางแพ่ง เป็นหลักเกณฑ์คนละกรณีกัน การบกพร่องต่อหน้าที่ราชการซึ่งต้องรับผิดทางวินัยนั้น อาจไม่เข้าเกณฑ์ความรับผิดทางแพ่งฐานละเมิดก็ได้ เมื่อผลของคำสั่งลงโทษทางวินัยยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งหรือไม่ โจทก์ที่ 2 ก็ชอบที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งอีกได้ และการดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว หาใช่เป็นการกระทำโดยไม่ชอบหรือมีเจตนากระทำเพื่อขยายอายุความฟ้องคดีละเมิดดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความมาชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ในประเด็นเรื่องอายุความฟังไม่ขึ้น
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับฟังมาซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 5 มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย โดยจำเลยที่ 6 หุ้นส่วนผู้จัดการได้เข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ของโจทก์ทั้งสอง โดยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ที่ 2 จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2529 จำนวนเงิน 3,500,000 บาท มีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 7 ใช้ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2653 ถึง 2662 ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำนวน 10 แปลง เป็นหลักประกัน ตามสัญญากู้ยืมเงินและบันทึกรายละเอียดรายการที่ดินที่นำมาประกันต่อท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.69 ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2529 จำนวนเงิน 3,500,000 บาท มีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 7 ใช้ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 708 เลขที่ 2626 ถึง 2629 เลขที่ 2663 เลขที่ 2664 และเลขที่ 2678 ถึงเลขที่ 2686 ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำนวน 16 แปลง เป็นหลักประกัน ตามสัญญากู้ยืมเงิน บันทึกรายละเอียดรายการที่ดินที่นำมาประกันต่อท้ายสัญญาและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.70 ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2530 จำนวน 8,000,000 บาท มีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 7 ใช้ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 695 เลขที่ 2615 ถึง 2625 เลขที่ 2717 ถึงเลขที่ 2729 และเลขที่ 2731 ถึงเลขที่ 2741 ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำนวน 36 แปลง เป็นหลักประกัน ตามสัญญากู้ยืมเงิน บันทึกรายละเอียดรายการที่ดินที่นำมาประกันต่อท้ายสัญญาและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.71 หลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 7 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินจำนวน 62 แปลง ที่เป็นหลักประกันดังกล่าว มาจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 และจำเลยที่ 7 นำเงินมาชำระให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2531 แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสามฉบับ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่ชำระโจทก์ที่ 2 จึงยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด แต่ขายไม่ได้ รายละเอียดปรากฏตามถ้อยคำสำนวนในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้เป็นยุติดังกล่าวคดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 มีส่วนรู้เห็นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกดังกล่าวหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีนายสุชัย นายภูมิพิทักษ์ นายสงวน ร้อยเอกสุรจิตร นายทรงชัย นางบัวเรียน นายก่าย นายโกสุม และนายคำตัน เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ของโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 7 ได้มาติดต่อจำเลยที่ 2 ขอให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกของโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการขออนุมัติ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทยใช้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักประกันเงินกู้แทนการมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามระเบียบของโจทก์ทั้งสองที่กำหนดไว้แต่เดิมโดยไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าที่ดินที่ใช้เป็นหลักประกันนั้นมีราคาซื้อขายในท้องตลาดอันเป็นาคาที่แท้จริงเพียงพอกับจำนวนเงินที่ได้อนุมัติให้กู้ยืมเงินหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่ติดต่อกับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบ้านม่วง ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตให้เป็นผู้ประเมินราคาที่ดินแล้วแจ้งมายังโจทก์ที่ 2 ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่เป็นหลักประกันจำนวน 62 แปลง ราคาประเมินกำหนดไร่ละ 160,000 บาท ซึ่งความจริงแล้ว ที่ดินดังกล่าวสภาพเดิมเป็นที่ดินทุ่งนาและป่ารกร้างอยู่นอกเขตชุมชน มีราคาประเมินเพียงไร่ละ 16,000 บาท จำเลยที่ 7 ซื้อที่ดินดังกล่าวจากเจ้าของเดิมในราคาถูกแล้ว นำมาปรับสภาพที่ดินทำถนนลูกรังชั่วคราวรอบที่ดินที่แบ่งแยกและให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยติดทางสาธารณะมีราคาประเมินไร่ละ 160,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับราคาที่ดินที่แท้จริงเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถบังคับคดีนำที่ดินที่เป็นหลักประกันดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 579/2531 ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย พยานโจทก์ทั้งสองทุกปากดังกล่าวต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการนี้ โดยนายสุชัยเป็นผู้ช่วยจ่าจังหวัดหนองคายและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นในขณะที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 เสนอตัวเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับโจทก์ทั้งสองมาแต่ต้นร้อยเอกสุรจิตรและนายทรงชัยเป็นคณะกรรมการทำหน้าที่ตรวจสภาพที่ดินที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำมาเป็นหลักประกัน นางบัวเรียนและนายก่ายเป็นเจ้าของที่ดินเดิมก่อนขายให้จำเลยที่ 7 นายโกสุมเป็นบุตรของนายศรีเมืองผู้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 7 นายคำตันเป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท และนายสงวนกับนายภูมิพิทักษ์เป็นคณะกรรมการประสานงานและรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาที่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง สภาพที่ดิน และสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคน ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองทุกคนดังกล่าวมีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกับจำเลยที่ 1 และที่ 5 มาก่อน และต่างก็เบิกความไปตามหน้าที่ที่ได้ปฏิบัติหรือตามข้อเท็จจริงที่ตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง และในประการสำคัญคือข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์ทั้งสองทุกปากดังกล่าวล้วนมีข้อเท็จจริงสอดคล้องเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับขั้นตอนอย่างเป็นเหตุเป็นผล แสดงให้เห็นชัดแจ้งถึงวิธีการที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้เข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกของโจทก์ทั้งสอง โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 5 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ให้การสนับสนุนให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ใช้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีราคาแท้จริงในท้องตลาดต่ำกว่าราคาประเมินมากมาประเมินราคาให้สูงกว่าความเป็นจริง อันเป็นการจงใจฉ้อฉลให้เกิดความเสียหายต่อโครงการของโจทก์ทั้งสองอย่างสมเหตุผล ที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกของกระทรวงมหาดไทยถูกต้องครบถ้วน มิได้ประมาทเลินเล่อหรือปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง เพราะการสั่งการของจำเลยที่ 1 ทุกขั้นตอนจะมีผู้ใต้บังคับบัญชาตามตำแหน่งหน้าที่เสนอเรื่องขึ้นมา ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบในโครงการของโจทก์ทั้งสอง แต่ได้ประเมินราคาและแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 7 ไปตามอำนาจหน้าที่ นั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว มูลละเมิดทางแพ่งย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 บัญญัติว่า "คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่" ซึ่งแสดงให้เห็นหลักการสำคัญว่า บทบัญญัติของกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางอาญาและในทางแพ่งนั้น เป็นคนละส่วนแยกออกต่างหากจากกัน หาใช่หลักเกณฑ์เดียวกันไม่ โดยเหตุนี้แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จะบัญญัติว่า การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาก็ตามแต่ในข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาแล้วนั้น ความรับผิดของบุคคลในทางอาญาต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง หาได้เกี่ยวข้องกันไม่ดังนั้น แม้พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วก็ตามโจทก์ทั้งสองก็ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ประการต่อไปที่ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสอง โดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้นศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยด้วยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 5 ต่างมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ตั้งประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำไว้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 5 จึงหวนกลับมาหยิบยกประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำขึ้นกล่าวอ้างอีก จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 5 มาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้าย ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เคลือบคลุม โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายระบุว่าในฐานะจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร มีเจตนาทุจริตทำการไม่ชอบอะไร อย่างไร และเมื่อใด นั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 บรรยายไว้ชัดแจ้งสรุปความได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการด้วยกัน และจำเลยที่ 6 กับที่ 7 ซึ่งเป็นเอกชน จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย และขอให้บังคับจำเลยทุกคนดังกล่าวชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองโดยระบุรายละเอียดด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ละคนมีตำแหน่งหน้าที่ราชการอะไร และจำเลยแต่ละคนดังกล่าวมีส่วนปฏิบัติหน้าที่ในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปี ในฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำมาเป็นหลักประกันให้ดี ไม่เรียกหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ให้เพียงพอ และไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองตามที่บรรยายฟ้องมาอย่างละเอียดแล้วนั้น เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชัดแจ้งเพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจข้อหา และสามารถให้การต่อสู้คดีของโจทก์ทั้งสองได้ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประการแรกมีว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกับจำเลยอื่นๆ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ประเด็นข้อนี้เห็นว่า แม้ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองจะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบที่ดินสำหรับการกู้ยืมเงินในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2529/2530 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองมีนายสุชัย ซึ่งขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยจ่าจังหวัดหนองคาย และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 ซึ่งดำรงตำแหน่งจ่าจังหวัดหนองคาย มาเบิกความยืนยันถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 4 หลายประการ อันเป็นพฤติการณ์ที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ได้มีส่วนรู้เห็นร่วมกับจำเลยอื่นๆ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในโครงการนี้ด้วย กล่าวคือ ในประการแรก นายสุชัยเบิกความว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร ได้มาติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะนั้นเพิ่งย้ายจากจังหวัดสกลนครมาดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดหนองคาย เพื่อขอเข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกกับจังหวัดหนองคาย พยานเห็นจำเลยที่ 4 เข้าไปพบจำเลยที่ 2 ในห้องทำงานแล้วออกมาพร้อมกับถือเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ออกมาด้วย โดยเอกสารหมาย จ.1 เป็นร่างโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 ส่วนเอกสารหมาย จ.2 เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 ของอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำเลยที่ 4 นำเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มาให้พยานและมอบหมายให้พยานเป็นผู้ร่างโครงการตามแบบโครงการของ อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร เอกสารหมาย จ.2 พยานได้ร่างโครงการให้ ตามร่างโครงการเอกสารหมาย จ.3 นอกจากนี้พยานยังได้เบิกความเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารประกอบโครงการ คือ ร่างบัญชีสำรวจข้าวเอกสารหมาย จ.4 ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนในตอนบนและตอนล่างกับรายละเอียดลำดับ 1 ถึงลำดับที่ 19 รวมทั้งจำนวนตัวเลขและจำนวนเงินกับเบิกความยืนยันว่า ร่างบัญชีสำรวจข้าวฉบับนี้พยานเป็นคนทำโดยจำเลยที่ 4 สั่งให้พยานทำ สำหรับการจัดทำร่างหนังสือที่ นค 0116/2465 ฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2529 เอกสารหมาย จ.5 นั้นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนทำ ต่อมาร่างเอกสารหมาย จ.5 ได้มีการจัดทำเป็นต้นฉบับแล้วเสนอจำเลยที่ 4 (ที่ถูกจำเลยที่ 3) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองหนองคายตามเอกสารหมาย จ.6 เพื่อเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามคำเบิกความของนายสุชัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการจัดทำเอกสารต่างๆ เพื่อดำเนินโครงการดังที่ได้กล่าวมานี้ เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำกับจำเลยอื่นๆ ด้วยมาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อได้ตรวจดูต้นฉบับหนังสือที่ นค 0116/2565 เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นหนังสือของจำเลยที่ 3 ในฐานะนายอำเภอเมืองหนองคายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย สรุปความว่าตามที่กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อจัดสรรให้จังหวัดนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกฯ นั้น ได้มีนายจำลอง จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ยื่นคำขอเป็นผู้ซื้อขายย่อยในการดำเนินงาน จึงขอส่งเรื่องมาพิจารณาดำเนินการต่อไปแล้วปรากฏว่ามีข้อความตรงกับร่างเอกสารหมาย จ.5 ที่จำเลยที่ 4 ยกร่างด้วยลายมือของตนเองทุกประการ อีกทั้งต้นฉบับข้อความในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 และบัญชีสำรวจข้าว อันเป็นสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ 2, 3 ของเอกสารหมาย จ.6 ก็มีข้อความตรงกับข้อความในร่างเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ทุกประการด้วยเช่นกัน จึงเป็นพฤติการณ์เบื้องต้นที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รู้เห็นและมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้นกับการร่วมกันกระทำละเมิดกับจำเลยอื่นๆ ด้วย สำหรับพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 4 ในประการที่สอง ที่แสดงออกว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยอื่นด้วยนั้น นายสุชัยเบิกความว่า ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 3.4 ระบุว่า นายจำลองจำเลยที่ 6 ผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวรายย่อยที่จะได้รับเงินยืมปลอดดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 2 นั้น จะต้องมีหนังสือค้ำประกันเงินยืมดังกล่าวของธนาคารหรือทรัพย์สินค้ำประกันให้ไว้แก่จังหวัดด้วย ส่วนแนวทางการดำเนินการและการบริหารโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 ของกระทรวงมหาดไทยเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 2.1.3 ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันก็ระบุว่าต้องมีสัญญาค้ำประกันของธนาคารแต่ข้อ 3.3 กลับมีข้อความระบุเรื่องหลักประกันว่า "...หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารหรือหลักทรัพย์อื่นที่มีมูลค่าเท่ากัน หรือไม่ต่ำกว่าวงเงินที่จังหวัดให้กู้ไว้เป็นหลักฐานด้วย..." อันเป็นข้อความที่ระบุผ่อนผันให้ผู้เข้าร่วมโครงการใช้หลักทรัพย์ที่มีค่าเท่ากันแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารได้ แต่นายสุชัยได้เบิกความถึงข้อพิรุธเกี่ยวกับการใช้เอกสารหมาย จ.9 เพื่อผ่อนคลายให้นายจำลองจำเลยที่ 6 ใช้หลักทรัพย์อื่นแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารว่าพยานเห็นเอกสารหมาย จ.9 เมื่อเห็นเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตอนที่จำเลยที่ 4 รับมาจากจำเลยที่ 2 และในประการสำคัญคือพยานเบิกความว่า จากการตรวจสอบเอกสารหมาย จ.9 ภายหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วพบว่าไม่มีการส่งหนังสือเอกสารหมาย จ.9 เข้ามาที่ทำการจังหวัดหนองคายตามระเบียบงานราชการ เพราะหนังสือฉบับนี้ไม่เคยผ่านงานสารบรรณ อันเป็นพฤติการณ์แห่งคดีที่สำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมรู้เห็นกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย เพราะนอกจากบทผ่อนคลายตามเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 3.3 จะยอมให้ใช้หลักทรัพย์อื่นที่มีมูลค่าเท่ากันแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารนั้น จะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายสามารถผ่อนปรนอนุมัติให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ผู้เข้าร่วมโครงการใช้หลักทรัพย์อื่นมาเป็นหลักประกันแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารได้ตามเอกสารหมาย จ.18 อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแล้ว ยังปรากฏด้วยว่าเอกสารหมาย จ.9 นั้น ได้มีการนำมาใช้อ้างอิงเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาปฏิบัติหน้าที่ราชการในโครงการนี้โดยมิได้ผ่านระบบงานสารบรรณตามระเบียบราชการด้วยพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 4 ประการสุดท้าย นายสุชัยเบิกความว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาภาพถ่ายใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกสารหมาย จ.20 ว่าเป็นเอกสารที่ถ่ายมาจากต้นฉบับจริง โดยเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทยจดทะเบียนจัดตั้งมาตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2529 แต่จากการตรวจสอบในภายหลังกลับปรากฏว่าห้างดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 พยานเข้าใจว่า เหตุที่มีการแก้ไขวันที่จดทะเบียนห้างดังกล่าวก็เพื่อให้สอดคล้องกับวันที่ที่ขออนุมัติไปที่กระทรวงมหาดไทยตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งความข้อนี้ เมื่อได้ตรวจดูเอกสารหมาย จ.7 แล้วปรากฏว่าเป็นหนังสือของนายจำลองจำเลยที่ 6 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2529 มีถึงจำเลยที่ 3 ในฐานะนายอำเภอเมืองหนองคาย แสดงความประสงค์ขอเป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการ และจำเลยที่ 3 ได้เกษียนสั่งการลงในเอกสารหมาย จ.7 ในวันเดียวกันให้ปลัดอำเภออาวุโสดำเนินการต่อไปโดยระบุด้วยว่า "ด่วนมาก" และต่อมาจำเลยที่ 3 ปลัดจังหวัดหนองคายในฐานะรักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายก็ได้มีหนังสือที่ นค 0016 (1)/10303 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึงอธิบดีกรมการปกครองเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยอ้างส่งสำเนาคำขอของนายจำลองจำเลยที่ 6 ตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับที่ 5 เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย อันเป็นเบาะแสสำคัญอีกประการหนึ่งที่บ่งบอกแสดงว่า จำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมกับจำเลยอื่นๆ ในการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเพราะขณะที่จำเลยที่ 6 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการตามเอกสารหมาย จ.7 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2529 นั้น ห้างดังกล่าวยังมิได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เพราะตามต้นฉบับจริงของใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดของห้างดังกล่าวระบุว่าเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 แต่ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.20 ที่จำเลยที่ 4 ลงชื่อรับรองว่าถ่ายจากต้นฉบับจริง กลับระบุว่าห้างดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2529 ซึ่งแสดงว่าเอกสารหมาย จ.20 มีการทำปลอมขึ้นในภายหลังด้วยการลบเลข "0" ของวันที่ 30 ในต้นฉบับเอกสารออกแล้วถ่ายสำเนาเอกสารหมาย จ.20 ด้วยเครื่องถ่ายเอกสารซึ่งทำให้ไม่ปรากฏร่องรอยการลงเลข "0" ในต้นฉบับเอกสารดังกล่าวออกทำให้เอกสารนั้นกลายเป็นใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนที่ยืนยันว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย จดทะเบียนจัดตั้งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2529 อันเป็นการฉ้อฉลหลอกลวงเพราะต้นฉบับที่แท้จริงของเอกสารหมาย จ.20 นั้น ระบุว่าห้างดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 และความข้อนี้ เมื่อได้ตรวจดูหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสกลนครเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งระบุว่านายจำลองจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย และจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับรองว่าถ่ายจากต้นฉบับจริง ก็ปรากฏร่องรอยว่ามีการลบเลข "0" ของวันที่ "30" ออก เพื่อให้ปรากฏว่าห้างดังกล่าวได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2529 ในลักษณะเดียวกับเอกสารหมาย จ.20 เช่นเดียวกัน พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับรองทั้งในเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ว่าถ่ายมาจากต้นฉบับจริงไม่ว่าจะเกิดจากจำเลยที่ 4 ได้กระทำความผิดอาญาด้วยการเจตนารับรองเอกสารเท็จจริงหรือเกิดจากจำเลยที่ 4 กระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบเอกสารด้วยความละเอียดรอบคอบก็ตาม ล้วนเป็นผลโดยตรงที่ทำให้จำเลยอื่นๆ สามารถสนับสนุนผลักดันให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 เข้าร่วมเป็นผู้ซื้อรายย่อยในโครงการนี้ และใช้สิทธิกู้ยืมเงินโจทก์ที่ 2 โดยใช้ที่ดินที่มีราคาประเมินต่ำกว่าจำนวนเงินกู้ยืมไปมาเป็นหลักประกันเงินกู้ยืมแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารได้ทั้งๆ ที่ขณะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมโครงการตามเอกสารหมาย จ.7 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลดังที่ปรากฏในใบสำคัญและหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ที่จำเลยที่ 4 ลงชื่อรับรองว่าถ่ายจากต้นฉบับจริงเช่นกัน จึงเป็นพฤติการณ์ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 4 ในประการอื่นๆ ดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต