ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเกษียณอายุพนักงานหญิงก่อนพนักงานชาย ไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญเมื่อพิจารณาตามกฎหมายแรงงานที่ใช้บังคับในขณะนั้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 26 ซึ่งเป็นมาตราแรกของหมวดนี้บัญญัติว่า "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ดังนั้น สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยตามหมวด 3 จึงหมายถึงสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองไว้สำหรับการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐแก่ชนชาวไทย ไม่ใช่การใช้อำนาจโดยปัจเจกบุคคลแก่ชนชาวไทย ตามคำฟ้อง คำให้การ และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นองค์กรของรัฐ ดังนั้น ระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุพนักงาน พ.ศ.2537 ของจำเลยที่ใช้บังคับแก่ลูกจ้างของจำเลยจึงเป็นระเบียบที่ใช้บังคับระหว่างจำเลยผู้เป็นปัจเจกบุคคลกับลูกจ้างของจำเลย (รวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วย) ซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลด้วยกัน ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า "ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน" นั้น ในกรณีของปัจเจกบุคคลต่อปัจเจกบุคคลด้วยกันต้องพิจารณาตามกฎหมายที่บัญญัติในแต่ละกรณีไป ในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับขณะนั้น คือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในเรื่องให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงเท่าเทียมกันในการจ้างงาน ดังนั้น ระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุ พ.ศ. 2537 ของจำเลย ข้อ 2 กำหนดการครบเกษียณอายุของพนักงาน ข้อ 2.1 ก. ที่ให้พนักงานชายตั้งแต่พนักงานปฏิบัติการชั้นต้นถึงเจ้าหน้าที่บริหารเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ข้อ 2.2 ก. ที่ให้พนักงานหญิงในระดับเดียวกันเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี บริบูรณ์ จึงไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม และไม่อยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30