โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 357, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,998,132 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.อึ้งฮั่วเส็ง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 55,252 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 190,456 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2534 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ได้มีคนร้ายร่วมกันลักยางรถยนต์และล้อแม็ก 41 รายการ รวมราคา 1,998,132 บาท ของโจทก์ร่วมไป ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2534 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนายประเทืองกับพวกรวม 5 คน โดยกล่าวหาว่าร่วมกันลักทรัพย์ยางรถยนต์และล้อแม็กของโจทก์ร่วมรวม 3 รายการ รวมราคา 31,700 บาท ชั้นสอบสวนนายประเทืองให้การว่าได้นำยางรถยนต์และล้อแม็กที่ลักมาไปขายที่ร้านของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจึงไปตรวจค้นร้านของจำเลยและยึดยางรถยนต์และล้อแม็ก 19 รายการ มาเพื่อทำการตรวจสอบ ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2534 จำเลยเข้ามอบตัวเพื่อต่อสู้คดี ชั้นสอบสวนร้อยตำรวจเอกประเชิญพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ารับของโจรเพื่อค้ากำไร จำเลยให้การปฏิเสธ ร้อยตำรวจเอกประเชิญสอบสวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องนายประเทืองกับพวกและจำเลย แต่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเฉพาะจำเลย โดยสั่งฟ้องนายประเทืองกับพวกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ยางรถยนต์และล้อแม็กรวมราคา 31,700 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเหตุเกิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาจำคุกนายประเทือง 3 ปี 4 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2160/2535 ของศาลชั้นต้น ต่อมาปี 2538 พนักงานอัยการมีหนังสือถึงพันตำรวจตรีสุนทรพนักงานสอบสวนในคดีนี้ว่าการกระทำความผิดของนายประเทืองกับพวกและจำเลยนั้น แยกได้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการกระทำความผิดในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด และช่วงที่ 2 เป็นการกระทำความผิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 เวลา 2 นาฬิกา ซึ่งพนักงานอัยการได้สั่งไม่ฟ้องจำเลยไปแล้ว แต่สำหรับการกระทำความผิดในช่วงแรกนั้น พนักงานสอบสวนยังมิได้ดำเนินการสอบสวน พันตำรวจตรีสุนทรจึงได้สอบสวนคดีนี้และดำเนินคดีแก่นายประเทืองกับพวกและจำเลยซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายประเทือง 5 ปี 3 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1743/2539 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอ้างในฎีกาประการแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการกระทำอันเดียวกับความผิดในคดีแรกที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นไปโดยมิชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงสั่งฟ้องคดีอีกไม่ได้ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีร้อยตำรวจเอกประเชิญเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนในคดีแรกซึ่งเป็นการสอบสวนนายประเทืองกับพวกรวม 5 คน และจำเลยเฉพาะในความผิดที่เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 เวลากลางคืน และทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายคือทรัพย์ 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดที่นายประเทืองกับพวกให้การรับสารภาพว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีดังกล่าว นายประเทืองกับพวกเคยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมมาแล้วหลายครั้งและได้นำไปขายที่ร้านของจำเลยนั้นพยานยังมิได้ทำการสอบสวน ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วตรงกับรายงานการสอบสวนคดีอาญาที่ 741/2534 ที่จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาเป็นพยานจำเลย ฉะนั้น แม้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในบันทึกการจับกุมนายประเทืองกับพวก กับบันทึกคำให้การของนายมงคลในชั้นสอบสวน ในสำนวนการสอบสวนคดีแรกจะมีรายละเอียดพาดพิงถึงการลักทรัพย์ 17 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2534 อยู่ด้วยดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ได้ความจากการสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนยังมิได้ตั้งข้อหาและทำการสอบสวนในรายละเอียดดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวแล้วอีกทั้งการลักทรัพย์ในแต่ละครั้งและการนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อของโจรในแต่ละครั้งนั้นเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนในความผิดเฉพาะกรรมใดวาระใดจะถือว่าได้สอบสวนในความผิดในกรรมอื่นและวาระอื่นด้วยหาได้ไม่ พยานจำเลยในข้อนี้ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คดีที่ร้อยตำรวจเอกประเชิญสอบสวนจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรและต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยนั้น เป็นการสอบสวนเฉพาะความผิดที่เหตุเกิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายในคดีดังกล่าวก็มีเพียงทรัพย์ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายก็เป็นทรัพย์ต่างรายกัน การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน