โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙, ๒๘๓ ทวิ, ๒๘๔, ๓๑๗, ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง, ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง, ๒๘๔ วรรคแรก, ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ (ที่ถูก ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเพื่อการอนาจาร) จำคุก ๕ ปี กระทงหนึ่ง และฐานกระทำอนาจาร (ที่ถูก ฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐) จำคุก ๑ ปี อีกกระทงหนึ่ง รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรม จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และต่อมาอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ดังนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง แต่เมื่อเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ปรากฏว่าการที่จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควร มีเจตนาพรากเด็กชายพรเทพไปเสียจากนางทูลผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร ย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารสำเร็จตั้งแต่จำเลยเริ่มพรากเด็กชายพรเทพไปโดยมีเจตนาดังกล่าว และเป็นเจตนาที่กระทำต่อนางทูลผู้เป็นมารดาเด็กชายพรเทพ ส่วนการที่จำเลยได้กระทำอนาจารแก่เด็กชายพรเทพโดยใช้กำลังประทุษร้ายตบตีและขู่เข็ญว่าจะฆ่าเด็กชายพรเทพหากขัดขืนมิให้จำเลยกระทำอนาจาร ย่อมเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำการอันวิปริตผิดทำนองคลองธรรม เป็นภัยร้ายแรงแก่สังคมส่วนรวมดังเช่นที่เด็กชายพรเทพซึ่งมีอายุเพียง ๑๐ ปีเศษ ต้องประสบในคดีนี้ และข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิต ก็เป็นเรื่องที่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานแน่ชัดที่ยืนยันว่าขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการเช่นนั้นจริง จึงจะนำมาเป็นข้ออ้างให้ได้รับโทษน้อยลงจากการกระทำอันเลวร้ายของตนหาได้ไม่ พฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุเพียงพอให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว
อนึ่ง คดีนี้สำหรับความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สำหรับความผิดฐานนี้ก่อนคดีถึงที่สุดได้ และได้ความว่าก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องและเบิกความทำนองเดียวกันว่า ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยในคดีนี้ต่อไปอีก เนื่องจากฝ่ายจำลยได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจของฝ่ายผู้เสียหายแล้ว เห็นว่า คำร้องและคำเบิกความของผู้เสียหายพอแปลได้ว่า ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.