โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุก 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า เดิมบริษัทลาเพิร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ชื่อว่า บริษัทลาพอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด มีผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารเป็นชาวต่างประเทศ จำเลยเป็นพนักงานของบริษัทโดยมิได้เป็นผู้ถือหุ้น ต่อมาจำเลยได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ครั้นปี 2539 ผู้บริหารบริษัทซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตั้งอยู่ที่สหราชอาณจักรประสงค์จะขายกิจการของบริษัทที่ประเทศไทย จำเลยกับผู้มีชื่อหลายคนจึงร่วมกันลงทุนซื้อกิจการบริษัท แล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็นชื่อในปัจจุบัน โดยจำเลยและเพื่อนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 55 ส่วนพันตำรวจตรีวิเชียรกับพวกถือหุ้นร้อยละ 45 จำเลยเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัท โดยกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัททำการผูกพันบริษัทได้ตามหนังสือรับรอง มีการจดทะเบียนเพิ่มโจทก์เป็นกรรมการเข้าใหม่ โดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัทยังคงเดิม มีการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท โดยจำเลยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ส่วนโจทก์กับกรรมการผู้มีชื่ออีก 3 คน โดย 2 ใน 4 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันประทับตราสำคัญของบริษัท ต่อมาวันเกิดเหตุจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและประทับตราสำคัญของบริษัท มอบอำนาจให้นางวัชรี พนักงานของบริษัทไปดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการเข้าใหม่ 4 คน และกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทต่อนายทะเบียน โดยในส่วนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทไม่มีชื่อโจทก์ โดยตามคำขอมีจำเลยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทเป็นผู้ยื่นคำขอนี้ระบุว่า ข้าพเจ้ากรรมการผู้ขอจดทะเบียนขอรับรองว่า การจดทะเบียนครั้งนี้ได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท โดยมีหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2547 และมีมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2547 ณ สำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุม 4 คน นับจำนวนหุ้นได้ 369,582 หุ้น โดยจำเลยเป็นประธานที่ประชุม และมีข้อความตอนท้ายว่า รายการที่ระบุในคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบถูกต้องตรงความจริงทุกประการ แต่ปรากฏว่าจำนวนหุ้นที่นับได้ไม่ครบองค์ประชุมตามข้อบังคับของบริษัท ข้อ 26 ซึ่งกำหนดว่าการประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญของผู้ถือหุ้นย่อมมิอาจกระทำการใดได้ นอกจากผู้ถือหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ซึ่งรวมกันเป็นจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 75 ของหุ้นที่บริษัทได้ออกไป ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วเป็นจำนวน 513,307.5 หุ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องตอบทนายจำเลยว่า โจทก์เข้าไปเป็นกรรมการบริษัทลาเพิร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด เอกสารนี้จำเลยรับรองว่าเป็นไปตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท แต่โจทก์ไม่ทราบว่าจะมีการประชุมจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องที่บริษัทแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ซึ่งมีรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแนบประกอบคำขอไปด้วยนั้น โจทก์ก็ไม่ทราบว่าจะมีการประชุมจริงหรือไม่ เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น และเบิกความต่อไปว่าตามหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งบริษัทมอบอำนาจให้พนักงานบริษัทไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท นั้น โจทก์ไม่ทราบว่าจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2542 ตามรายงานการประชุมที่แนบประกอบคำขอจริงหรือไม่ สำหรับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2545 เอกสารประกอบหนังสือมอบอำนาจ โจทก์ไม่ทราบว่ามีการประชุมจริงหรือไม่ และสุดท้ายโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยในลักษณะเดียวกันว่าตามหนังสือมอบอำนาจ จำเลยมอบอำนาจให้พนักงานบริษัทไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท โดยถอนชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท โจทก์ก็ไม่ทราบว่าจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2547 หรือไม่ เท่ากับโจทก์เบิกความในการแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียนของบริษัทลาเพิร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ตามเรื่องราวที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยมาข้างต้น โจทก์ไม่ทราบว่าจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติในแต่ละครั้งหรือไม่ แต่จำเลยเบิกความยืนยันว่า นับแต่จำเลยเข้าบริหารกิจการต่อจากบริษัทลาพอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด และจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท จำเลยได้บริหารกิจการเพียงคนเดียวในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไม่ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีพนักงานฝ่ายบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัททำเอกสารหลักฐานขึ้น โดยมิได้จัดประชุมผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับโจทก์เป็นบุคคลที่พลตำรวจตรีวิเชียร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทขอให้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทเพิ่มขึ้น 1 คน ในส่วนของพลตำรวจตรีวิเชียรและพวก และจำเลยเบิกความต่อไปว่า สำหรับการให้โจทก์เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทนั้น จำเลยมอบอำนาจให้ไปยื่นคำขอเพิ่มโจทก์เป็นกรรมการคนใหม่โดยมิได้มีการประชุมผู้ถือหุ้น เพียงแต่ทำเอกสารขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งความข้อนี้นางวัชรี ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและเป็นกรรมการบริษัทกับเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วยเบิกความเป็นพยานจำเลยตอบทนายโจทก์ว่า ตั้งแต่พยานทำงานเป็นพนักงานบริษัทลาเพิร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ยังไม่พบว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท เพียงแต่มีการทำรายงานการประชุมเท่านั้น จำเลยก็ทราบว่าไม่มีการประชุมจริงเพราะมีการปฏิบัติเช่นนี้มาตลอด เท่ากับจำเลยนำสืบว่านับแต่จำเลยและผู้มีชื่อซื้อกิจการบริษัทลาพอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด จากผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวต่างชาติและจำเลยเข้ามาบริหารในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว ในการดำเนินกิจการของบริษัทในส่วนแก้ไขเพิ่มเติมรายการจดทะเบียนรวมทั้งการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท มิได้มีการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นตามข้อบังคับของบริษัท เห็นว่า ตามรูปคดีเชื่อได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่พลตำรวจตรีวิเชียร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งขอให้เข้าไปเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของบริษัท เพื่อดูแลส่วนได้เสียฝ่ายตน โดยโจทก์เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งกระทำการแทนบริษัทได้เป็นเวลาร่วม 6 ปี และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันโจทก์ก็ยังมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท โดยตำแหน่งหน้าที่โจทก์ถือเป็นผู้บริหารบริษัทคนหนึ่งย่อมต้องทราบถึงข้อบังคับของบริษัทเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งข้อ 23 ระบุว่า บริษัทจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ประจำปี สำหรับกิจการของบริษัทที่ระบุในข้อ 23 อย่างน้อย 1 ครั้ง เรียกว่าการประชุมใหญ่สามัญ ส่วนการประชุมใหญ่อื่น ๆ ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดเรียกว่าการประชุมใหญ่วิสามัญ ดังนี้ เรื่องที่จะต้องประชุมหรือได้ประชุมมีมติแล้ว ถือเป็นส่วนได้เสียที่โจทก์จะต้องทราบและรายงานให้พลตำรวจตรีวิเชียรทราบเพื่อรักษาผลประโยชน์ในส่วนของตน ซึ่งโจทก์จะต้องเอาการเอางานในส่วนนี้ให้สมแก่ที่พลตำรวจตรีวิเชียรไว้วางใจเชิญมาเป็นกรรมการ จึงเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจริงหรือไม่ การที่โจทก์เบิกความทำนองไม่รู้ไม่เห็นในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนทุกครั้งของบริษัทว่าจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นจริงหรือไม่นั้น จึงเป็นคำเบิกความตัดบทที่ไม่สมแก่เหตุผล ผิดกับคำเบิกความจำเลยที่ลงลึกในรายละเอียดและกล้าเบิกความยืนยันการบริหารงานของจำเลย อันเป็นผลร้ายแก่ตนเองที่ไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท เชื่อว่าในการจดทะเบียนเพิ่มโจทก์เป็นกรรมการคนใหม่ของบริษัทตามคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด มิได้มีการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติตามข้อบังคับของบริษัทแต่อย่างใด ดังนี้ การเป็นกรรมการของโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษายืน