คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 กำหนดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 6 ตกลงร่วมกันหรือแทนกันจะมอบเงิน 7,000,000 บาท ให้โจทก์เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ระบุไว้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ข้อ 2 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแช จะใช้อำนาจผู้จัดการมรดกโดยได้รับความเห็นชอบจากทายาทของเจ้ามรดกทำหนังสือมอบอำนาจ 3 ฉบับ ซึ่งหากมีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกจะให้ความร่วมมือแก้ปัญหาเพื่อให้มีการดำเนินการจนลุล่วงเป็นไปโดยสมบูรณ์ การมอบอำนาจ มีดังนี้ 2.1 ฉบับที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการขอแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2273 และ 2274 แต่ละแปลงออกเป็น 2 แปลง ในนามเดิม ตามแนวเขตและเนื้อที่ซึ่งผู้รับมอบอำนาจกำหนด 2.2 ฉบับที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่มีการแบ่งแยกตามข้อ 2.1 ซึ่งแบ่งแยกแล้ว เฉพาะที่ดินในส่วนทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองแปลง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2270 อีกแปลงหนึ่ง เพื่อให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำหนดเองให้เป็นผู้รับโอนที่ดิน โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบสำหรับค่าธรรมเนียมโอน ค่าภาษีอากร และค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ และ 2.3 ฉบับที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 เป็นผู้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่มีการแบ่งแยกตามข้อ 2.1 ซึ่งแบ่งแยกแล้วเฉพาะที่ดินในส่วนทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินทั้งสองแปลง เพื่อให้จำเลยที่ 6 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้บุคคลซึ่งจำเลยที่ 6 เป็นผู้กำหนดเองให้เป็นผู้รับโอนที่ดินทั้งสองแปลง โดยให้จำเลยที่ 6 เป็นผู้รับผิดชอบสำหรับค่าธรรมเนียมโอน ค่าภาษีอากร และค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมามีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีเนื่องจากสัญญาประนีประนอมความยอมข้อ 2.1 กำหนดแต่เพียงว่า ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการขอแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2273 และ 2274 แต่ละแปลงออกเป็น 2 แปลง ตามแนวเขตและเนื้อที่ซึ่งจำเลยที่ 2 กำหนดโดยมิได้ระบุจำนวนเนื้อที่ที่จะแบ่งแยกไว้ ศาลชั้นต้นตีความสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.1 ว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2273 และ 2274 แต่ละแปลงออกเป็น 2 ส่วน ในนามเดิม ตามแนวเขตและเนื้อที่ซึ่งผู้รับมอบอำนาจกำหนดนั้น ให้ที่ดินที่แบ่งแยกแล้วแปลงด้านทิศตะวันออกเมื่อรวมกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2270 แล้วมีเนื้อที่เท่ากับแปลงด้านทิศตะวันตก ซึ่งการตีความดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาปราณบุรี ดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาปราณบุรี จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2273 และ 2274 ตามที่แบ่งแยก (ที่ถูก ซึ่งแบ่งแยกแล้ว เฉพาะส่วนทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองแปลง) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2270 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมโอน ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อการนี้
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 และมาตรา 357 หรือไม่ เห็นว่า ในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ นอกจากจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมแชแล้ว จำเลยที่ 2 ยังเป็นบุตรของโจทก์กับนางกิมแช และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ด้วย ประกอบกับโจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2273, 2274 และ 2270 การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิได้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชเท่านั้น แต่ยังเป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงด้วย และตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 6 ร่วมกันหรือแทนกันมอบเงิน 7,000,000 บาท ให้โจทก์เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ระบุไว้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว โดยหาได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มอบเงินแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้วางเงิน 3,500,000 บาท ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 นอกจากนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.1 ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้จัดการมรดกของนางกิมแชดำเนินการขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส .3 ก.) เลขที่ 2273 และ 2274 แต่ละแปลงออกเป็น 2 แปลง ในนามเดิม ทั้งมีสิทธิและหน้าที่ตามข้อ 2.2 ในการเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้จัดการมรดกของนางกิมแชให้จดทะเบียนโอนที่ดินตามข้อ 2.1 ที่แบ่งแยกแล้วเฉพาะที่ดินด้านทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองแปลงและที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2270 ให้แก่บุคคลซึ่งจำเลยที่ 2 กำหนดให้เป็นผู้รับโอนที่ดินดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้วและได้แถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ประสงค์จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิที่จำเลยที่ 2 สามารถกระทำได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.2 จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในฐานะส่วนตัวหาใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชไม่ ดังนี้ แม้ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้ถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมแชและคดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาก็ตาม ก็มิได้ทำให้สิทธิของจำเลยที่ 2 ในการเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสื่อมเสียไป และแม้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ระบุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 โดยได้รับความเห็นชอบจากทายาทของเจ้ามรดกซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทายาทของเจ้ามรดกก่อนนั้น ก็ได้ความตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ว่า ตนเองและทายาทตามพินัยกรรมไม่ติดใจบังคับตามพินัยกรรมขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่ทายาทของนางกิมแชยินยอมให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในการทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว หาได้มีข้อขัดข้องในเรื่องความยินยอมของทายาทดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างมาไม่ นอกจากนี้สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ยังระบุอีกว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชจะให้ความร่วมมือแก้ปัญหาเพื่อให้มีการดำเนินการจนลุล่วงไปโดยสมบูรณ์ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นคู่ความลงลายมือชื่อผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 2 กำหนดและศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 แถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ประสงค์จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองและแจ้งเหตุขัดข้องในการรับโอนที่ดินพิพาทว่ายังไม่ได้รับหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชเพื่อไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความและมีสิทธิได้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธีตามบทบัญญัติแห่งการบังคับคดีจนแล้วเสร็จได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง โดยการบังคับคดีหาใช่จะต้องเป็นเรื่องระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ของกองมรดกเพียงประการเดียวดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกามาไม่ เมื่อการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในกรณีนี้คงเหลือเพียงการทำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชเพื่อให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชได้ และการทำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวจะมีผลบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมแชหรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 357 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แม้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติขึ้นโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 5 กันยายน 2560 ภายหลังจากที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 แล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนวิธีการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเท่านั้นตามมาตรา 21 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนวิธีการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีใด ๆ ที่ได้กระทำภายหลังวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ย่อมต้องบังคับตามบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมภายหลังจากที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 และมาตรา 357 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่การบังคับคดีในคดีนี้ เมื่อการทำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความจะมีผลบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลย่อมมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ