คดีสามสำนวนนี้โจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดกลาง ให้ขับไล่จำเลยอย่าให้มาเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสามต่างให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของตน เฉพาะนางทิม จำเลยฟ้องแย้งว่าได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของศาล หากจะต้องตกไปเป็นของโจทก์ ๆ ต้องรับใช้ราคาที่ดิน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทภายในเส้นสีแดงทั้งแปลงเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดกลาง ให้ขับไล่จำเลยและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปกับให้ยกฟ้องแย้งของนางทิมเสีย
จำเลยทั้ง ๓ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าที่พิพาทหมาย ๑,๒,๓ ในแผนที่กลางเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดกลาง นอกจากนี้ยืน
จำเลยทั้ง ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่านางทิม ศรีธัญรัตน์ จำเลยยกข้อ ก.ม.ขึ้นฎีกาว่าตนซื้อที่พิพาทตอนหมายเลข ๑ มาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล แม้ที่นี้จะเป็นที่ขอวัดจำเลยก็ได้กรรมสิทธิตาม ม.๑๓๓๒, ศาลฎีกาเห็นว่า ม.๑๓๓๒ ใช้บังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินธรรมดา สำหรับที่วัดและที่ธรณีสงฆ์นั้น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ม.๔๑ บัญญัติว่าจะโอนกรรมสิทธิได้แต่โดย พ.ร.บ.ที่สองประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ตาม ป.พ.พ. ม.๑๐๖ ซึ่งไม่อาจจะโอนกันได้โดยชอบด้วย ก.ม. เว้นแต่จะมี พ.ร.บ.ให้อำนาจไว้เป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้แม้จำเลยได้ซื้อที่พิพาทหมาย ๑ ไว้โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล จำเลยก็ไม่มีกรรมสิทธิในที่พิพาทตอนนี้อยู่นั่นเอง และโจทก์ก็ไม่มีหน้าที่คืนหรือชดใช้ราคาให้แก่นางทิมจำเลยเพราะกรณีไม่เข้ามาตรา ๑๓๓๒
นางทุมมาฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บอกว่าวัดสร้างมาเมื่อใด และได้ที่พิพาทมาอย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นที่ของวัดแล้ววัดจะได้ที่นั้นมาโดยเหตุใดและเมื่อใดก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะเมื่อเป็นที่ของวัดแล้วผู้ใดจะแบ่งกรรมสิทธิที่นั้นไปจากวัดไม่ได้ กรรมสิทธิจะโอนไปจากวัดได้แต่โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วข้างต้น จำเลยมีทางได้ที่นี้แต่โดยพิสูจน์ว่าเป็นที่ของจำเลยไม่ใช่ที่ของวัดเท่านั้น อีกประการหนึ่งในฟ้องของโจทก์ก็ได้ระบุไว้แล้วว่าที่พิพาทเป็นของวัด จึงไม่มีทางที่จำเลยจะผิดหลงในการต่อสู้คดี ทั้งในการพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความขัดข้องในการต่อสู้คดีเนื่องจากฟ้องโจทก์มีข้อความไม่ชัดเจนแต่ประการใด
นางทุมมาฎีกาเจ้าอาวาสวัดกลางแต่องค์เดียวไม่มีสิทธิมอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแทนวัดได้ ข้อนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยโดยคำพิพากษาฎีการที่ ๘๒๓,๘๒๔,๘๒๕ พ.ศ.๒๔๙๖ แล้วว่าเจ้าอาวาสแห่งวัดอาจมอบอำนาจให้บุคคลดำเนินคดีแทนวัดได้
นางทุมมาฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจในฟ้องคดีของเจ้าอาวาสไม่สมบูรณ์ ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าการมอบอำนาจก็คือการให้ตัวแทนมีอำนาจทำการแทนตัวการนั่นเอง การแต่งตั้งตัวทนนั้น ป.พ.พ. ม.๗๙๗ วรรค ๒ บัญญัติว่าจะแต่งตั้งโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ได้ เพราะฉนันในบางกรณีแม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ เลยก็อาจตั้งตัวแทนได้ ม.๗๙๘ เป็นแต่บัญญัติว่ากิจการใดท่านบังคับไว้โดย ก.ม.ว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือ กิจการใด ก.ม.บังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องมีหลักฐาเป็นหนังสือด้วย การที่ว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือในมาตรานี้ย่อมหมายความถึงหนังสือหรือหลักฐานอันมีลายมือชื่อของผู้เป็นตัวการซึ่งเป็นผู้ทำการแต่งตั้งนั้น ตามหลักทั่วไปที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม.๙ สำหรับตัวแทนไม่มี ก.ม.ใดบังคับว่าจะต้องลงนามในหนังสือแต่งตั้งหรือมอบอำนาจนั้นด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าใบมอบอำนาจเลื่อนลอยไม่ได้ระบุให้ฟ้องขับไล่ผู้ใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้ออ้างนั้นจำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาจึงต้องห้ามไม่จำต้องพิจารณา
จึงพิพากษายืน.