โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 288, 289, 339, 340, 340 ตรี, 357, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายจักรชัย บิดานายจักรพันธุ์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฐานร่วมกันชิงทรัพย์ ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ และฐานร่วมกันรับของโจร
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 340 วรรคแรก, 340 ตรี, 371, 376 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 340 วรรคแรก, 340 ตรี, 371 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400 บาท ฐานรับของโจร จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 4 ปี รวมแล้วคงลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 3 และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200 บาท ส่วนจำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 340 วรรคท้าย, 371 (ที่ถูกประกอบมาตรา 83), 376 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 340 วรรคท้าย, 371 (ที่ถูกประกอบมาตรา 83) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท (ที่ถูกเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท) ซึ่งมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกประกอบมาตรา 52 (2)) แล้ว ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (ที่ถูกฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200 บาท รวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์รถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ฮ - 6130 กรุงเทพมหานคร ของนางศรีสมบัติ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายจักรพันธุ์ ผู้ตายไป ส่วนจำเลยที่ 4 ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรรถยนต์ดังกล่าวไว้ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ในส่วนความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่อย่างใด ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันปล้นทรัพย์รถยนต์ของผู้ตายไปเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายโอภาส เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 เวลา 17.30 นาฬิกา ขณะที่ผู้ตายพักอาศัยอยู่ที่บ้านพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอีก 2 คนไปทวงเงินจากผู้ตายซึ่งเป็นหนี้เพื่อนจำเลยที่ 2 ที่บ้านพยาน แล้วจำเลยที่ 1 ชวนพยานไปงานสมรสญาติจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสระบุรี จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับออกไป ต่อมาเวลา 19.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมาชวนผู้ตายไปงานสมรสดังกล่าว ผู้ตายจึงไปชวนจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 3 นั่งรับประทานอาหารอยู่กับลุงพยานที่ร้านอีสานคลาสสิคฝั่งตรงข้ามกับบ้านพยานให้เดินทางไปด้วย จนกระทั่งเวลา 21.30 นาฬิกา ผู้ตายขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน 7 ฮ - 6130 กรุงเทพมหานคร ไปจังหวัดสระบุรี มีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับพยานนั่งโดยสารไปด้วยโดยไปพักที่บ้านนายคารวิน ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นอาจำเลยที่ 1 วันรุ่งขึ้นบิดาจำเลยที่ 1 มาหาจำเลยที่ 1 และพูดต่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ไม่ไปพักบ้านบิดาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับพวกจึงไปพักที่บ้านบิดาจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ชวนพยานกับพวกไปเที่ยวหาเงินที่วัดพระพุทธบาท เมื่อไปถึงจำเลยที่ 1 ลงจากรถไปพูดคุยกับเพื่อนจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจึงพากันขับรถไปขอเงินแม่ชีที่เชิงเขาที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าไม่พบแม่ชี จำเลยที่ 1 กับพวกจึงพากันมาบ้านบิดาจำเลยที่ 1 ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ชวนผู้ตายขับรถออกไปดักยิงรถจักรยานยนต์เพื่อนำเงินมาเป็นค่าน้ำมันรถ พยานคัดค้านจึงถูกจำเลยที่ 2 ด่าว่า "มึงอยู่เงียบ ๆ อย่าพูดมากถ้าไม่กล้า" ขณะออกจากบ้านบิดาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนยาว 1 กระบอก หลังจากนั้นผู้ตาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับพยานเดินทางออกจากบ้านบิดาจำเลยที่ 1 ด้วยรถยนต์ของผู้ตายเป็นยานพาหนะ โดยผู้ตายเป็นผู้ขับตามเส้นทางที่จำเลยที่ 1 บอกเพื่อขึ้นไปที่เชิงเขาที่เกิดเหตุ พบบ้านร้าง 1 หลัง ผู้ตายบอกให้พยานเฝ้ารถยนต์ของผู้ตายไว้ ส่วนผู้ตายและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เดินออกไป หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที พยานได้ยินเสียงดังปังแต่ไม่ทราบว่าเป็นเสียงอะไร ต่อมาประมาณ 30 นาที จำเลยที่ 1 เดินมาส่งกุญแจรถยนต์ของผู้ตายให้พยานขับรถยนต์ของผู้ตายเพื่อพาจำเลยที่ 1 ไปบ้านนายคารวิน ระหว่างทางพยานสอบถามว่าเสียงดังเป็นเสียงอะไร จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่ทราบ เมื่อถึงบ้านนายคารวิน จำเลยที่ 1 ไปพูดคุยกับนายคารวิน ส่วนพยานรออยู่ที่รถยนต์ของผู้ตาย แล้วจำเลยที่ 1 และนายคารวินเดินอกมาบอกพยานว่าจะไปซื้อน้ำมันเพื่อมาใส่รถยนต์ของผู้ตาย จากนั้นจำเลยที่ 1 และนายคารวินขับรถจักรยานยนต์ออกไป ระหว่างนั้นพยานนอนหลับจนกระทั่งตื่นจึงเห็นจำเลยที่ 1 และนายคารวินกลับมา จำเลยที่ 1 ให้พยานขับรถยนต์ของผู้ตายไปที่บ้านร้าง เมื่อถึงบ้านร้าง จำเลยที่ 1 ให้พยานลงจากรถพร้อมบอกว่าจำเลยที่ 1 จะขับรถยนต์ของผู้ตายไปรับผู้ตายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 1 ก็ขับรถยนต์ของผู้ตายขึ้นไปที่เชิงเขาที่เกิดเหตุ ขณะที่พยานรออยู่ที่บ้านร้าง จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของผู้ตายผ่านมารับ พยานเห็นจำเลยที่ 3 นั่งหน้าคู่กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ใช้มือเช็ดตาทำท่าจะร้องไห้ พยานถามจำเลยที่ 2 ว่าผู้ตายไปไหน จำเลยที่ 2 บอกว่าผู้ตายเดินทางล่วงหน้าไปกับนายคารวินแล้ว เมื่อถึงบ้านนายคารวินจำเลยที่ 3 ร้องไห้และบอกพยานว่าผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ฆ่าตายแล้ว ระหว่างนั้นพยานได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายคารวินปรึกษากันโดยนายคารวินพูดว่าถ้าจะฝังต้องขุดลึก แล้วแนะนำให้ไปทิ้งน้ำที่เขื่อน หลังจากนั้นขณะที่พยานนั่งคุยกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 พยานถามจำเลยที่ 1 ว่า ฆ่าผู้ตายเพราะเหตุใด จำเลยที่ 1 บอกว่าปืนลั่น ถ้าหากพาไปโรงพยาบาลจะต้องติดคุกกันหมด แล้วจำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปที่เขื่อน ส่วนพยานรออยู่ที่บ้านนายคารวิน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ออกไปได้ 1 ชั่วโมงเศษ ก็พากันกลับมาที่บ้านนายคารวิน วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของผู้ตายออกไปเพื่อขายตามเส้นทางที่จำเลยที่ 1 บอก โดยมีจำเลยที่ 3 และพยานนั่งไปด้วย จนกระทั่งไปพบจำเลยที่ 4 ซึ่งรับซื้อรถยนต์ของผู้ตายไว้ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกฆ่าผู้ตาย ข้อเท็จจริงคงได้ความจากคำเบิกความของนายโอภาสรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอีก 2 คน มาทวงเงินจากผู้ตาย เมื่อผู้ตายไม่มีเงินให้ จำเลยที่ 1 จึงออกอุบายชวนผู้ตายไปจังหวัดสระบุรีอ้างว่าไปงานสมรสญาติจำเลยที่ 1 แล้วหลอกว่าจะพาผู้ตายไปปล้นเอาเงินจากผู้ขับรถจักรยานยนต์เพราะปรากฏว่าไม่ได้ไปงานสมรสและไม่มีการปล้นเอาเงินจากผู้ขับรถจักรยานยนต์แต่อย่างใด เหตุที่จำเลยที่ 3 ไปจังหวัดสระบุรีด้วยก็เพราะผู้ตายชวนไป หาใช่จำเลยที่ 3 ร่วมเป็นพวกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มาทวงเงินจากผู้ตายไม่ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฆ่าผู้ตายเพื่อนำรถยนต์ของผู้ตายไปขาย ทั้งในวันเกิดเหตุนายโอภาสเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชวนผู้ตายให้ขับรถยนต์ของผู้ตายออกไปดักยิงผู้ขับรถจักรยานยนต์เพื่อเอาเงินจากผู้ขับเพราะขณะนั้นไม่มีเงินค่าน้ำมันรถ โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกผู้ตายว่าจะพาผู้ตายไปปล้นรถจักรยานยนต์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแต่อย่างใด หลังเกิดเหตุนอกจากจำเลยที่ 3 จะไม่หลบหนีแล้ว เมื่อนายโอภาสพบจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ก็บอกนายโอภาสทันทีว่าผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ฆ่า และจำเลยที่ 3 ร้องไห้ แล้วจำเลยที่ 3 ยังไปเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้นางบุปผา และโจทก์ร่วมทราบตามลำดับทันทีเช่นกันจากนั้นจำเลยที่ 3 ก็พาโจทก์ร่วมและเจ้าพนักงานตำรวจไปติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยเฉพาะนางบุปผาพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านยืนยันว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว นางศรีสมบัติ มารดาผู้ตายไม่พอใจจำเลยที่ 3 โดยอ้างว่าทำไมจำเลยที่ 3 ไม่ช่วยเหลือผู้ตาย จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ด้วย อันเป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 ว่าเดิมเจ้าพนักงานต้องการกันจำเลยที่ 3 ไว้เป็นพยาน ต่อมานางศรีสมบัติเห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 สามารถช่วยเหลือผู้ตายได้ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมช่วยเหลือโจทก์ร่วมจึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ดังนี้ คำเบิกความของนางบุปผาดังกล่าวย่อมมีน้ำหนักให้รับฟัง แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การ (ศาลจังหวัดนครปฐม) ซึ่งให้การซัดทอดว่าจำเลยที่ 2 ชวนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้ร่วมกันฆ่าผู้ตายเพื่อนำรถยนต์ของผู้ตายไปขายจำเลยที่ 3 ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมคงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ตามบันทึกคำให้การ (ศาลจังหวัดนครปฐม) ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 3 ช่วยจับแขนผู้ตายนั้น จำเลยที่ 3 เบิกความปฏิเสธในชั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวโดยไม่ทราบข้อความจึงไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้เช่นกัน ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปล้นทรัพย์และฆ่าผู้ตายตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 มาด้วยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
นอกจากนี้ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 มาด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้แม้คำขอท้ายฟ้องจะอ้างมาตรา 376 ไว้ด้วยก็ตามแต่โจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย โดยมิได้กล่าวมาในฟ้องว่าการยิงปืนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานดังกล่าวมาด้วย ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรานี้ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง"
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดเกี่ยวกับทรัพย์จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กำหนดโทษให้คงเดิม ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้วคงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ข้อหาใช้อาวุธปืนฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันปล้นทรัพย์รถยนต์ของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1