โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 80, 83, 91, 138, 140, 289 (2), 362, 364, 365, 368, 371, 392 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 121/2540 และ 144/2540 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคท้าย, 362, 364, 365, 365 (1) (2) (3), 371, 392, 83, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72, 72 ทวิ, 78 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืนจำคุก 3 ปี ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานมีวัตถุระเบิดนอกจากที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานบุกรุกในเวลากลางคืน จำคุก 6 เดือน และฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 7 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 392, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72, 72 ทวิ, 78 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ จำคุก 1 เดือน ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด และฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานมีวัตถุระเบิด นอกจากที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 1 เดือน บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 121/2540 และ 144/2540 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 เป็นจำคุก 2 ปี 13 เดือน ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362, 364, 83 และมาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืนจำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ปรับ 100 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาอื่น กับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ ริบเครื่องกระสุนปืนและลูกระเบิดของกลางคืนมีดปลายแหลมของกลางให้แก่เจ้าของ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง ขณะที่นายสำเริงกับนายจริญหรือกุ้งและพวกร่วมกันดื่มสุราที่บริเวณบ่อน้ำร้อนในที่เกิดเหตุ นายยุทธนาหรือหมึกกับนายโอมและพวกซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 2 เข้าไปที่กลุ่มของนายสำเริงดังกล่าวแล้วนายยุทธนานำลูกระเบิดของกลางจากกระเป๋าสะพายของนายโอมออกมาขู่เข็ญนายสำเริงกับนายจริญ ทั้งยังใช้เท้าถีบใบหน้านายจริญอีกด้วย เป็นเหตุให้นายสำเริงกับนายจริญเกิดความกลัวและความตกใจ ขณะนั้นนายยุทธนาพกพาอาวุธปืนสั้นติดตัวมาด้วย นายสำเริงกลับบ้านไปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นายภิรมย์หรือถอกบิดาของตนฟัง นายภิรมย์จึงขับรถจักรยานยนต์ไปแจ้งเหตุแก่สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเบตงขณะอยู่ที่ที่พักสายตรวจบ่อน้ำร้อนใกล้กับที่เกิดเหตุ หลังจากสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์รับแจ้งเหตุแล้วเดินทางไปยังบริเวณบ่อน้ำร้อนที่เกิดเหตุแต่พบคนในกลุ่มของนายยุทธนากำลังดื่มสุรากันที่บริเวณร้านค้าของนายนกเขาจึงเข้าตรวจค้น พบกระสุนปืนลูกซองของกลาง 4 นัด ที่ตัวนายสุนทรหรือถั่วแระ สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ควบคุมในกลุ่มของนายยุทธนาซึ่งรวมทั้งนายสุนทรไปที่ที่พักสายตรวจบ่อน้ำร้อน ขณะนั้นนายจริญขับรถจักรยานยนต์มีนายสำเริงนั่งซ้อนท้ายไปที่ที่พักสายตรวจบ่อน้ำร้อนด้วย ต่อมาสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์วิทยุขอรถสายตรวจแต่ติดต่อไม่ได้ จึงเดินไปโทรศัพท์สาธารณะเมื่อกลับมาปรากฏว่า บุคคลที่สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ควบคุมมาดังกล่าวหลบหนีไปทั้งหมดระหว่างนั้นนายพริกขี้หนู หลานของนายภิรมย์มาแจ้งแก่นายภิรมย์ว่านายยุทธนากับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านของนายภิรมย์ถามหานายสำเริง แล้วนายยุทธนานำลูกระเบิดและลูกกระสุนปืนลูกซองของกลางออกมาขู่เข็ญนางหนูดวง นายจรัญซึ่งเป็นภริยาและบุตรของนายภิรมย์กับคนในบ้านของนายภิรมย์เป็นเหตุให้นางหนูดวงกับนายจรัญและคนในบ้านของนายภิรมย์เกิดความกลัวและความตกใจ สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จึงให้นายภิรมย์ขับรถจักรยานยนต์ โดยสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์นั่งซ้อนท้ายไปที่บ้านของนายภิรมย์ นายจริญขับรถจักรยานยนต์มีนายสำเริงนั่งซ้อนท้ายตามไปด้วย เมื่อรถจักรยานยนต์ทั้งสองคนแล่นมาถึงปากซอยสวนอีสานซึ่งเป็นทางเข้าบ้านนายภิรมย์มีชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามหลังมาโดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย นายจริญจำได้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของนายยุทธนาจึงร้องบอกนายภิรมย์ สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ให้นายภิรมย์จอดรถยนต์แล้วลงไปยืนบนถนนโบกมือส่งสัญญาณให้คนที่ขับรถจักรยานยนต์ตามมาจอดรถเพื่อจะตรวจค้น แต่คนขับไม่ยอมจอดรถกลับเร่งความเร็วของรถจักรยานยนต์ขับผ่านไป สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จึงใช้อาวุธปืนยาวยิงขู่ 1 นัด แต่คนขับก็ยังไม่ยอมจอดรถ สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จึงใช้อาวุธปืนยาวยิงไปที่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวอีกหลายนัด กระสุนปืนถูกจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ แต่คนขับจักรยานยนต์ดังกล่าวพากันหลบหนีไปได้ คืนนั้นจำเลยที่ 1 เข้ารับการรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลเบตง เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้กระสุนปืนลูกซองอีก 3 นัด กับลูกระเบิด 1 ลูก ที่นายยุทธนากับพวกได้ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวแล้วนำไปซุกซ่อนไว้บริเวณกระต๊อบหน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 ซึ่งใกล้ที่เกิดเหตุเป็นของกลาง และยังยึดมีดปลายแหลม 1 เล่ม ซึ่งตกอยู่บริเวณถนนใกล้ปากทางเข้าซอยอีสานเป็นของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับนายยุทธนาและพวกมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีลูกระเบิดไว้ในครอบครอง พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกับนายยุทธนากับพวกขู่เข็ญนายสำเริงกับพวกให้เกิดความตกใจกลัวหรือไม่ ข้อเท็จจริงส่วนนี้ฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะที่นายสำเริงกับนายจริญและพวกร่วมกันดื่มสุราบริเวณบ่อน้ำร้อน นายยุทธนาหรือหมึกกับนายโอมและพวกซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 2 เข้าไปที่กลุ่มของนายสำเริงแล้วนายยุทธนานำลูกระเบิดออกมาจากกระเป๋าสะพายของนายโอมออกมาขู่เข็ญนายสำเริงกับนายจริญ ทั้งยังถีบใบหน้านายจริญอีกด้วย เป็นเหตุให้นายจริญเกิดความกลัวและตกใจ ขณะนั้นนายยุทธนาพกพาอาวุธปืนสั้นติดตัวมาด้วย พยานโจทก์ที่เป็นประจักษ์พยานมีนายสำเริงกับนายจริญ แต่โจทก์ไม่สามารถนำนายจริญมาเบิกความได้ คงมีเพียงนายสำเริงมาเบิกความเพียงคนเดียว โดยนายสำเริงเบิกความว่าจำเลยที่ 2 มากับนายยุทธนาและนายโอม เมื่อนายยุทธนานำลูกระเบิดออกมาจากกระเป๋าสะพายของนายโอม จำเลยที่ 2 พูดว่า พวกมึงเห็นอะไรแล้วอย่าพูดมาก แต่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ตามไปทีหลังและได้เข้าห้ามนายยุทธนาซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ให้การเช่นนี้ไว้ตั้งแต่ชั้นสอบสวนของตามเอกสาร ป.จ. 4 ศาลจังหวัดยะลา ทั้งนายสำเริงก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า จำเลยที่ 1 เข้าดึงนายหมึกมีลักษณะห้ามไม่ให้เกิดเรื่อง อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ทำให้ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานโจทก์จึงยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 จะได้ร่วมกับนายยุทธนาและพวกกระทำความผิดทั้งสามข้อหานี้หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน มีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ข้อเท็จจริงส่วนนี้ฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายพริกขี้หนูหลานของนายภิรมย์มาแจ้งว่านายยุทธนากับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านนายภิรมย์และนำลูกระเบิดกับกระสุนปืนออกมาขู่สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จึงให้นายภิรมย์ขับรถจักรยานยนต์โดยมีสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ซ้อนท้ายไปที่บ้านนายภิรมย์ นายจริญขับรถจักรยานยนต์โดยมีนายสำเริงซ้อนท้ายไปด้วยกัน เมื่อรถจักรยานยนต์ทั้งสองคันแล่นมาถึงปากซอยสวนอีสานซึ่งเป็นทางเข้าบ้านนายภิรมย์มีชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามหลังมาโดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย นายจริญจำได้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของนายยุทธนาจึงบอกนายภิรมย์ สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์บอกให้นายภิรมย์จอดรถจักรยานยนต์แล้วสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ลงไปยืนบนถนนโบกมือส่งสัญญาณให้คนขับรถจักรยานยนต์จอดรถเพื่อจะตรวจค้น แต่คนขับรถจักรยานยนต์ไม่ยอมจอดกลับเร่งความเร็วขับผ่านไป สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จึงใช้อาวุธปืนยิงขู่ 1 นัด แต่คนขับรถจักรยานยนต์ก็ยังไม่จอดรถ สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถจักรยานยนต์อีกหลายนัด กระสุนปืนถูกจำเลยที่ 1 ที่ขาได้รับบาดเจ็บ แต่คนขับก็พาจำเลยที่ 1 หลบหนีไปได้ พยานโจทก์มีสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์นายภิรมย์และนางสำเริงเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ใช้อาวุธปืนยิงขู่ 1 นัด เพื่อให้คนขับรถจักรยานยนต์จอด แต่คนขับรถไม่จอดและจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายชักอาวุธปืนสั้นจ้องเล็งมาทางสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถจักรยานยนต์หลายนัด มีข้อต้องพิจารณาประการแรกว่า จำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ กรณีไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 รู้จักสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์มาก่อน ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ที่สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์เบิกความว่าได้หยุดรถแล้วแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานโบกมือให้วัยรุ่นจอดรถนั้น เห็นว่า การที่สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายภิรมย์มาพบจำเลยที่ 1 โดยบังเอิญ จึงลงไปโบกมืออย่างกะทันหันเช่นนี้ไม่น่าเชื่อว่า สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จะมีเวลาและโอกาสแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ข้อพิจารณาต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนด้วยหรือไม่ สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์เบิกความว่า เมื่อโบกมือให้วัยรุ่นจอดรถ วัยรุ่นไม่จอด แสดงว่ารถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายมาแล่นเลยผ่านสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ไปแล้ว สิบตำรวจโทสิทธิพันธ์จึงใช้อาวุธปืนยิงขู่ 1 นัด รถจักรยานยนต์ก็ยังแล่นออกไปอีก ซึ่งสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์เบิกความว่า ขณะรถคนร้ายอยู่ห่าง 30 เมตร จำเลยที่ 1 ยกปืนเล็งมา เห็นว่า ในระยะห่างขนาดนั้นในขณะที่รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายแล่นไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเช่นนี้กรณีน่าสงสัยว่าสิบตำรวจโทสิทธิพันธ์ นายสำเริงและนายภิรมย์จะเห็นว่าจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนอยู่หรือไม่ พยานโจทก์จึงมีข้อน่าสงสัยอยู่ตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและความผิดข้อหามีและพาอาวุธปืน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่ยุติไปแล้วได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีลูกระเบิดไว้ในครอบครองหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงส่วนนี้เป็นเหตุการณ์ที่นายยุทธนากับพวกไปที่บ้านของนายภิรมย์ พยานโจทก์มีนางหนูดวงเบิกความว่ามีคนถีบประตูบ้านแล้วจำเลยที่ 1 เดินเข้ามาในบ้านถามว่า สำเริงอยู่ไหน นายหมึก (นายยุทธนา) ล้วงเอากระสุนปืนและลูกระเบิดออกมาแล้วพูดว่า อยากกินลูกปืนหรือลูกระเบิด นายหมึกโยนลูกระเบิดไปตรงบริเวณหน้าโทรทัศน์แต่ไม่ระเบิด แล้วนายหมึกก็เก็บลูกระเบิดออกไปกับจำเลยที่ 1 ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจนำลูกระเบิดมาให้ดู นางหนูดวงจำได้ว่าเป็นลูกระเบิดที่นายหมึกนำมาโยนที่บ้าน ดังนี้ พฤติการณ์ของคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายหมึกครอบครองลูกระเบิดจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ลูกระเบิดของกลางทำการระเบิดไม่ได้จึงไม่เป็นวัตถุระเบิดและไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมาย ในข้อนี้พยานโจทก์มีรายงานการตรวจพิสูจน์ของพันตำรวจโทวิชัยกองปัญโญว่า ของกลางจัดเป็นเครื่องกระสุนปืนตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกไปอนุญาตให้ได้แม้จะได้ความต่อไปตามรายงานฉบับดังกล่าวว่าของกลางดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ใช้ทำการระเบิดไม่ได้เพราะชนวนเสื่อมสภาพ แต่ก็ถือได้ว่าของกลางเป็นลูกระเบิดตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดตามข้อหามีลูกระเบิดไว้ในครอบครองฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อีกกระทงหนึ่งฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกับบุกรุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้วเป็นจำคุก 2 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9