คดีสืบเนื่องจาก โจทก์ทั้งยี่สิบสองฟ้องจำเลยทั้งสิบสี่ให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งยี่สิบสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จากสารบบความ วันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 11 ถึงที่ 14 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้โจทก์แต่ละคน ตามรายละเอียดที่ระบุในรายการคำนวณเงินที่ต้องชำระตามเอกสารท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความ และจำเลยที่ 11 ที่ 12 และที่ 14 ตกลงนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 95 แปลง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญา หากจำเลยที่ 1 ที่ 11 ถึงที่ 14 ไม่ไปจดทะเบียนจำนองภายในกำหนดถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์ทั้งยี่สิบสองบังคับคดีได้ทันที หากผิดนัดข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์ทั้งยี่สิบสองบังคับคดีตามคำขอท้ายฟ้อง และให้บังคับจำนองที่ดินที่ได้จดทะเบียนจำนอง (หากมีการจดทะเบียน) ออกขายทอดตลาดได้ทันที หากขายทอดตลาดแล้วยังคงเหลือหนี้ค้างชำระ ให้บังคับคดียึด อายัดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่ 11 ถึงที่ 14 ออกขายทอดตลาดจนกว่าโจทก์ทั้งยี่สิบสองจะได้รับชำระเงินครบถ้วน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 และวันที่ 4 ธันวาคม 2562 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 65 แปลง และ 4 แปลง ตามลำดับ รวม 69 แปลง มีชื่อจำเลยที่ 14 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ปัจจุบันที่ดินทั้ง 69 แปลง ดังกล่าว มีชื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จดทะเบียนรับจำนอง สืบเนื่องจากวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 และวันที่ 16 กันยายน 2548 จำเลยที่ 14 นำที่ดินทั้ง 69 แปลง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 12 ต่อธนาคาร พ. และยังมีการจดทะเบียนจำนองต่อเจ้าหนี้รายอื่น คือ ธนาคาร น. และบริษัท บ. ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2553 จำเลยที่ 12 ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ ธนาคาร พ. ยื่นขอรับชำระหนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 1,272,660,266.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 843,643,383.26 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น วันที่ 28 มิถุนายน 2559 ธนาคาร พ. จดทะเบียนโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันที่มีต่อจำเลยที่ 14 เฉพาะส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องยังเข้าสวมสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการแทนธนาคาร พ. ครั้นวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 12 เนื่องจากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเป็นผลสำเร็จ แต่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองที่ดินทั้ง 69 แปลง ของจำเลยที่ 14 ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิในคดีฟื้นฟูกิจการแทนเจ้าหนี้เดิม ยังไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 12 เลย เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบสองนำยึดที่ดิน 69 แปลง ของจำเลยที่ 14 ผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจากธนาคาร พ. เจ้าหนี้เดิม ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งจำนองเป็นเงิน 2,649,763,655.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 843,643,383.26 บาท นับถัดจากวันที่ยื่นคำร้องจนถึงวันที่ผู้ร้องได้รับชำระครบถ้วน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องซึ่งมีฐานะเป็นจำเลยที่ 13 ในคดีนี้ จะอาศัยอำนาจแห่งการจำนองในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองทรัพย์สินของจำเลยที่ 14 ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นได้ เห็นว่า ในการบังคับคดี ถ้าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีโดยวิธีอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่การบังคับคดีดังกล่าวต้องไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นของบุคคลภายนอกหรือบุคคลใดที่มีอยู่เหนือสิทธินั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 หมวด 2 ส่วนที่ 6 สิทธิของบุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี ได้ความว่า จำเลยที่ 14 ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 69 แปลง ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดในคดีนี้ นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 12 ต่อธนาคาร พ. ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 และวันที่ 16 กันยายน 2548 จำนวน 65 แปลง และ 4 แปลง ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคาร พ. ทีมีต่อจำเลยที่ 12 ทั้งหมด และมีการจดทะเบียนการโอนสิทธิเรียกร้องต่อเจ้าพนักงานวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องทั้งปวงที่ธนาคาร พ. มีต่อจำเลยที่ 12 หากธนาคาร พ. มีสิทธิในฐานะผู้รับจำนองแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 14 ซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 12 อย่างไร ผู้ร้องย่อมรับโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวด้วย และสิทธิในฐานะผู้รับจำนองดังกล่าวของผู้ร้องย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 324 (1) ซึ่งบัญญัติให้บุคคลใดที่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในกรณีเป็นผู้รับจำนอง บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นได้ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีข้อจำกัดว่าบุคคลนั้นจะต้องเป็นบุคคลภายนอก เหมือนเช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 322 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกที่อาจจะได้รับการกระทบกระทั่งจากการบังคับคดี แตกต่างกับสิทธิของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 324 ดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 322 บัญญัติไว้แต่ต้นว่าเป็นกรณีภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 324 ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 322 เป็นกรณีนอกเหนือจากสิทธิที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 324 ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดิน 69 แปลง อันเป็นสิทธิตามกฎหมายสารบัญญัติที่กฎหมายให้การรับรองคุ้มครอง ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมีฐานะเป็นจำเลยที่ 13 ในคดี ก็ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองสิทธิของตนในฐานะผู้รับจำนองได้ และการที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 69 แปลง ก่อนเจ้าหนี้อื่นก็หาได้กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในอันที่จะบังคับคดีแก่เงินจำนวนดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะโจทก์ยังสามารถร้องขอให้บังคับคดีแก่เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นได้ตามกฎหมายอยู่แล้วที่ศาลอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองสิทธิของตนในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งจำนองหรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล และภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคเป็นที่สุด จึงเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบมาตรา 252 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ