โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 220,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 210,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามสัญญาทั้ง 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 250,000 บาท จำเลยชำระต้นเงินบางส่วนเป็นเงิน 40,000 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีความผูกพันต้องชำระ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ไม่อาจเรียกคืนหรือขอให้นำไปหักจากต้นเงินได้ แต่เมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 กันยายน 2558) จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน 3 ฉบับ รวมจำนวน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 1 จำนวนเงิน 65,000 บาท กับโจทก์ ส่วนสัญญากู้ยืมเงินอีกสองฉบับ จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงต้องนำสืบว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์อ้างสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 และที่ 3 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แต่สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ โจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 และที่ 3 รวมจำนวน 145,000 บาท คงรับผิดตามสัญญากู้ฉบับที่ 1 เพียง 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทำสัญญาทั้งสามฉบับขึ้นในคราวเดียวกันเพื่อให้จำเลยรับสภาพหนี้มิได้มีเจตนาให้เป็นสัญญาตามแบบ ไม่ใช่ตราสารที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการกู้ยืมเงินได้ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย และแม้โจทก์จะฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินรวมจำนวน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1 จำนวน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์แล้ว ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีเพียงจำนวน 145,000 บาท ต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์มานั้น ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ