โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ 45,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่กรมป่าไม้
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) (ที่ถูก 69 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (1), 73 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (1)) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (ที่ถูก 31 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (1)) พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานทำไม้สัก (ที่ถูก ฐานทำไม้สัก ฐานทำไม้หวงห้าม) และฐานทำไม้หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ฐานแปรรูปไม้สักและฐานแปรรูปไม้ชนิดอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานแปรรูปไม้สักฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 1 ปี ฐานมีไม้สักแปรรูปและฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปชนิดอื่นเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้สักและไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้สักอันยังมิได้แปรรูป ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 24 เดือน ริบของกลาง และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ 45,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมป่าไม้ ส่วนที่โจทก์ขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับเนื่องจากมิได้พิพากษาให้ลงโทษปรับจึงจ่ายเงินสินบนนำจับให้ไม่ได้ ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในทำนองว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด จำเลยไม่ได้เข้าไปบุกรุกในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กล่าวคือ หมู่บ้านของจำเลยอยู่ในเขตตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อประมาณปี 2554 เกิดเหตุดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมหมู่บ้านซึ่งบ้านของจำเลยด้านหลังติดกับลำห้วยทำให้ได้รับผลกระทบจากดินโคลนถล่มกระแสน้ำป่าไหลหลาก หลังจากเหตุการณ์สงบลงบริเวณลำห้วยที่ติดอยู่กับบ้านของจำเลย มีไม้ต่าง ๆ ที่ไหลมากับโคลนและน้ำป่ารวมสะสมอยู่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตหมู่บ้านปางมะคอม ที่จำเลยพักอาศัยมิได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยจึงตัดไม้ดังกล่าวมาเก็บไว้บริเวณสวนของจำเลยเพื่อรอเวลาเพียงพอที่จะแปรรูปไม้เพื่อนำมาซ่อมแซมและต่อเติมบ้านที่อยู่อาศัยของจำเลยที่เสียหายเท่านั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา จำเลยจะโต้เถียงว่ามิได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตัดไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงในการตัดไม้ได้ไม้เป็นจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว ตัดฟันต้นไม้สัก ไม้แดง ไม้แดงน้ำและไม้ประดู่ และใช้เลื่อยโซ่ยนต์แปรรูปไม้ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและเป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญของประเทศส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางธรรมชาติ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ทั้งการที่ศาลชั้นต้นยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลย และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่งและพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6