โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 358, 83 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 134,988 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง, 358 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 134,988 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างและฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นการกระทำกรรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 - 2835 ตรัง และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 80 - 2836 ตรัง บรรทุกน้ำมันปาล์มจากบริษัทโจทก์ร่วมที่จังหวัดตรังไปส่งให้แก่บริษัทยูไนเต็ด แฟต แอนด์ ออยล์ จำกัด ผู้ซื้อที่กรุงเทพมหานคร แต่เมื่อถ่ายน้ำมันปาล์มบางส่วนลงในบ่อน้ำมันของบริษัทดังกล่าวพบว่ามีน้ำปนอยู่ในน้ำมันปาล์ม บริษัทผู้ซื้อจึงสั่งให้ระงับการถ่ายน้ำมันปาล์มและแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าน้ำมันปาล์มที่ส่งมามีน้ำปนอยู่ ต่อมาเมื่อจำเลยทั้งสองขับรถยนต์บรรทุกกับรถพ่วงดังกล่าวกลับมาที่บริษัทโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมตรวจพบว่าน้ำมันปาล์มสูญหายไปส่วนหนึ่งกับมีน้ำปนอยู่ในน้ำมันปาล์มบางส่วน โจทก์ร่วมจึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างและทำให้เสียทรัพย์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏตามสำเนาหนังสือของบริษัทยูไนเต็ด แฟต แอนด์ ออยล์ จำกัด ลงวันที่ 31 มกราคม 2540 ว่า บริษัทดังกล่าวได้เชิญเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะจำนวน 2 คน ไปร่วมตรวจสอบรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 - 2835 ตรัง และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 80 - 2836 ตรัง ที่บรรทุกน้ำมันปาล์มว่ามีน้ำเจือปนในน้ำมันปาล์มที่โจทก์ร่วมส่งให้บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ซื้อหรือไม่ ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฏว่ามีน้ำเจือปนกับน้ำมันปาล์มในรถพ่วงดังกล่าว โดยบริษัทดังกล่าวกับเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองยินดีชี้แจงรายละเอียดตามที่โจทก์ร่วมต้องการเพื่อที่จะได้ขจัดขบวนการทุจริตของคนขับรถของบริษัทโจทก์ร่วมให้บรรลุผล การที่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะจำนวน 2 คน ซึ่งไปร่วมตรวจสอบด้วยดังกล่าวจึงเพียงไปเป็นพยานให้บริษัทยูไนเต็ด แฟต แอนด์ ออยล์ จำกัด ผู้ซื้อว่าโจทก์ร่วมส่งสินค้าให้ถูกต้องตามสัญญาซื้อขายหรือไม่เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองคนนั้นได้เข้าทำการสอบสวนความผิดในคดีนี้ ทั้งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า เหตุคดีนี้เกิดระหว่างเส้นทางตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน กับปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสอง ว่าจำเลยทั้งสอง ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ในท้องที่อำเภอสิเกา จึงเป็นกรณีที่เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดฐานลักทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์ได้กระทำในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกาซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยทั้งสองได้ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (1) และวรรคสอง (ก) โจทก์ร่วมชอบที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมทำให้จำเลยที่ 2 หลงต่อสู้ เนื่องจากโจทก์อ้างว่าความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำเป็นเหตุต่อเนื่องกันจากอำเภอสิเกากับเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเกี่ยวพันกันอย่างไรนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2540 วันเวลาใดไม่ปรากฏ จำเลยทั้งสองร่วมกันลักน้ำมันปาล์มจำนวน 8,436 กิโลกรัม ราคา 134,988 บาท ของผู้เสียหายผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์คือน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมโดยจำเลยทั้งสองเอาน้ำผสมลงในน้ำมันปาล์ม 2,812.25 กิโลกรัม คิดเป็นค่าเสียหาย44,996 บาท ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายเนื่องจากผู้ซื้อไม่ยอมรับซื้อน้ำมันปาล์มดังกล่าวจากผู้เสียหาย เหตุเกิดระหว่างเส้นทางตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกันนั้น เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้แล้วว่าเหตุลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ที่โจทก์ กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นระหว่างเส้นทางจากตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ถึงเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว หาได้เป็นฟ้องเคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนายคล่องและนายประภาสที่เบิกความยืนยันว่า ก่อนบรรจุน้ำมันปาล์มลงถังบรรทุกของรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่จำเลยทั้งสองขับนั้น พยานทั้งสองต่างได้ตรวจดูแล้วไม่มีน้ำมันปาล์ม น้ำ หรือของเหลวอื่นอยู่ภายในถัง นายประภาสจึงบรรจุน้ำมันปาล์มลงถังในส่วนหัวทั้ง 5 ช่อง ส่วนพ่วงบรรจุ 4 ช่อง เว้นไว้ 1 ช่อง แม้พยานทั้งสองดังกล่าวจะไม่ได้ตรวจสอบน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมก่อนที่จะนำมาบรรจุลงในถังบรรทุกรถยนต์และรถพ่วงคันที่จำเลยทั้งสองขับว่า น้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมมีน้ำหรือของเหลวอื่นปลอมปนอยู่หรือไม่ แต่ได้ความจากนายคล่องที่เบิกความประกอบ ว่า น้ำมันปาล์มกับน้ำไม่สามารถผสมรวมกันได้ น้ำมีน้ำหนักมากกว่าน้ำมันปาล์ม น้ำมันปาล์มจะต้องลอยอยู่บนน้ำ และ แสดงถังเก็บน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมและลักษณะการนำน้ำมันปาล์มมาบรรจุลงถังบรรทุกของรถนั้น จะเห็นได้ว่าน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมบรรจุอยู่ในถังขนาดใหญ่ก่อน แล้วให้น้ำมันปาล์มไหลมาตามท่อซึ่งอยู่บริเวณส่วนล่างของถังบรรจุน้ำมันปาล์มเพื่อนำน้ำมันปาล์มมาบรรจุในรถบรรทุกที่จะทำการขนส่ง หากน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมมีน้ำปลอมปนก่อนที่จะนำมาบรรจุเพื่อบรรทุกในรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่จำเลยทั้งสองขับ น้ำซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าน้ำมันปาล์มย่อมอยู่บริเวณ ส่วนล่างของถังบรรจุ ดังนั้น น้ำก็ย่อมจะไหลเข้าไปในถังบรรจุของรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงเป็นช่อง ๆ ก่อน จนกระทั่งน้ำที่ปนเปื้อนหมดแล้ว น้ำมันปาล์มจึงจะไหลเข้าถังบรรจุตามลำดับตามที่นายประภาสบรรจุลงไป แต่กรณีนี้เมื่อจำเลยทั้งสองนำรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงบรรทุกน้ำมันปาล์มไปถึงบริษัทยูไนเต็ด แฟต แอนด์ ออยล์ จำกัด นายประเสริฐให้จำเลยทั้งสองนำรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงไปชั่งน้ำหนักกลับพบว่ามีน้ำหนักใกล้เคียงตามใบส่งของ เมื่อนายประเสริฐตักน้ำมันปาล์มจากช่องที่ 1 ซึ่งทำการบรรจุเป็นลำดับแรกไปทำการตรวจสอบนั้น ไม่พบสิ่งปนเปื้อน แต่เมื่อนำน้ำมันปาล์มถ่ายลงบ่อเก็บจึงพบว่าช่องที่ 2 มีน้ำปนเปื้อนอยู่ในน้ำมันปาล์ม นายประเสริฐและนายเชาว์ทำการตรวจสอบพบว่าช่องที่ 2 ถึงที่ 5 มีน้ำปนอยู่ เมื่อจำเลยทั้งสองนำรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงกลับมาที่ทำการโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้ตรวจสอบอีกครั้งก็พบว่ารถยนต์บรรทุกส่วนหัวไม่มีน้ำปนเปื้อน แต่ส่วนพ่วงช่องที่ 2 ถึงที่ 4 มีน้ำปนอยู่ในน้ำมันปาล์มจริง หากถังเก็บน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมมีน้ำปนเปื้อนอยู่ก่อนแล้ว ก็ควรจะตรวจพบการปนเปื้อนตั้งแต่ช่วงบรรจุช่วงที่ 1 แต่ในช่องบรรจุน้ำมันปาล์มช่องที่ 2 ถึงที่ 4 ของส่วนพ่วงกลับมีน้ำปนอยู่กับน้ำมันปาล์ม จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นเพราะถังเก็บน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมมีน้ำปนเปื้อนมาก่อน ซึ่งในข้อนี้นายคล่องเบิกความว่าตะกั่วที่ใช้ซีลฝาถังและท่อวาล์วสามารถหาซื้อได้จากร้านทั่วไป พฤติการณ์จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังวินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เมื่อนายประภาสบรรจุน้ำมันปาล์มเสร็จและนายคล่องใช้ตะกั่วซีลฝาถังและท่อวาล์วแล้ว ในขณะที่จำเลยทั้งสองขับรถบรรทุกสิบล้อลากจูงรถพ่วงบรรทุกน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไปส่งแก่บริษัทยูไนเต็ด แฟต แอนด์ ออยล์ จำกัด ในระหว่างทางมีการเปิดฝาถังหรือท่อวาล์วแล้วแอบเอาน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมที่บรรทุกอยู่ในรถยนต์และรถพ่วงที่จำเลยทั้งสองขับออกไป และนำน้ำมาบรรจุไว้แทนน้ำมันปาล์มเพื่อให้มีน้ำหนักสอดคล้องกับใบส่งของ แล้วใช้ลวดกับตะกั่วซีลฝาถังและท่อวาล์วไว้เช่นเดิม ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เหตุที่เกิดขึ้นน่าจะมีการลักน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมขณะจำเลยทั้งสองจอดรถบรรทุกและรถพ่วงไว้ ณ ที่ทำการของโจทก์ร่วม แม้ในข้อนี้นายคล่องจะเบิกความว่าเมื่อใช้ลวดกับตะกั่วซีลฝาถังและท่อวาล์วแล้ว จำเลยทั้งสองจอดรถทิ้งไว้ในที่ทำการของโจทก์ร่วม แต่จากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจอดรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงไว้ในที่ทำการของโจทก์ร่วมนานเท่าใด ทั้งน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมที่ถูกลักไปมีเป็นจำนวนถึง 8,436 กิโลกรัม อันเป็นจำนวนมาก หากมีการลักไปจะต้องใช้รถบรรทุกมาขนถ่าย ทั้งขณะนั้นเป็นเวลากลางวันย่อมจะต้องมีพนักงานของโจทก์ร่วมมาปฏิบัติหน้าที่ หากมีการลักน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไปจริงตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง ย่อมจะต้องมีพนักงานของโจทก์ร่วมมาพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการลักเอาน้ำมันปาล์มของโจทก์ในขณะที่รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่จำเลยทั้งสองขับจอดอยู่ในที่ทำการของโจทก์ร่วมตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อจำเลยทั้งสองนำรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงกลับมาถึงที่ทำการของโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมปล่อยเวลาจนล่วงเลยหลายวันจึงมาตรวจสอบน้ำมันปาล์มเป็นพิรุธนั้น ในข้อนี้แม้จะได้ความตามบันทึก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ร่วมเพิ่งจะมาตรวจสอบน้ำมันปาล์มก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายประเสริฐและนายเชาว์ว่า ต่างตรวจพบน้ำในน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2540 และพบว่ามีน้ำปลอมปนก่อนแล้ว ที่โจทก์ร่วมมาตรวจสอบน้ำมันปาล์มอีกในภายหลังจึงหาเป็นพิรุธตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ แม้เหตุที่เกิดขึ้นโจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นขณะจำเลยทั้งสองลักเอาน้ำมันปาล์มที่บรรทุกอยู่ในถังบรรทุกบนรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของโจทก์ร่วมที่จำเลยทั้งสองขับไปก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองขับรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงบรรทุกน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมพาเดินทางออกจากบริษัทโจทก์ร่วมที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2540 และไปถึงบริษัทยูไนเต็ด แฟต แอนด์ ออยล์ จำกัด ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24 มกราคม 2540 ซึ่งในขณะนั้นถือได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองน้ำมันปาล์มแทนโจทก์ร่วมตลอดเวลา แต่กลับปรากฏว่ามีการลักน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมแล้วนำเอาน้ำมาบรรจุไว้แทน จนเป็นเหตุให้มีน้ำปลอมปนกับน้ำมันปาล์มจนน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมที่เหลือเสียหายใช้การไม่ได้ จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวมีน้ำหนักเพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักน้ำมันปาล์ม อันเป็นทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างและทำให้เสียทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษา ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง เป็นการปรับบทลงโทษที่ไม่ถูกต้อง ทั้งโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองไม่ตรงกับฐานความผิด เพราะเหตุเกิดขณะน้ำมันปาล์มอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไปส่งแก่ลูกค้า การที่จำเลยทั้งสองครอบครองน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมขณะเกิดเหตุเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ร่วมไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น การครอบครองน้ำมันปาล์มโดยแท้จริงยังอยู่ที่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง มิใช่ยักยอก ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน