กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยและจำเลยร่วม ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกเข้ามาในคดี ชำระหนี้ค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์รวม 34 คน เป็นเงิน 777,890 บาทและต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้ง 34 คน และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลแรงงานกลางอายัดเงินจำนวน 777,890 บาทตามคำร้องของโจทก์ไปยังจำเลยร่วม ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาทำการก่อสร้างกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยเป็นเงิน 3,234,218 บาท แบ่งการรับเงินเป็น 8 งวดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ และมอบให้ผู้ร้องเป็นผู้รับเงินจากจำเลยร่วม ผู้ร้องได้บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยร่วมและจำเลยร่วมได้ยินยอมการโอนสิทธิรับเงินค่าจ้างนี้ด้วยแล้ว ผู้ร้องได้รับเงินจากจำเลยร่วมแล้วรวม 6 งวด เป็นเงิน2,118,360 บาท ยังคงค้างงวดที่ 7 และงวดที่ 8 เป็นเงิน1,115,858 บาท เมื่อผู้ร้องได้ขอรับเงินทั้งสองงวดจากจำเลยร่วมจึงทราบว่า โจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งห้ามจำเลยร่วมจ่ายเงิน 777,890 บาท ให้แก่จำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งจำเลยร่วมให้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวตามที่อายัดไปยังศาลแรงงานกลาง ผู้ร้องเห็นว่าเงินจำนวน 777,890 บาทมิใช่เงินของจำเลยแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เนื่องจากจำเลยได้โอนสิทธิการรับเงินให้แก่ผู้ร้องแล้ว ขอให้ไต่สวนและเพิกถอนการอายัดเงินจำนวน 777,890 บาท และขอให้จำเลยร่วมชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า เงินที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอายัดเป็นเงินของจำเลยตามสิทธิในสัญญาจ้างงานก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนในคำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการอายัด ขอให้ยกคำร้องและให้จำเลยร่วมส่งเงินจำนวน 777,890 บาทไปยังศาลแรงงานกลาง
จำเลยร่วมคัดค้านว่า ผู้ร้องมีสิทธิจะได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างงานก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนใน เพียงเท่าที่จำเลยจะพึงได้รับจากจำเลยร่วม เมื่อสิทธิการรับเงินได้โอนไปยังผู้ร้องแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญา และโจทก์ไม่มีสิทธิอายัดดังกล่าวได้ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการอายัดจำนวนเงิน 777,890 บาท
ในวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยร่วมส่งเงินตามหนังสืออายัดภายใน 7 วันนับแต่วันมีคำสั่ง ส่วนที่จำเลยร่วมยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดและขอให้ยกคำร้องเห็นว่าเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องที่จะให้ศาลวินิจฉัยว่าฝ่ายใดจะมีสิทธิในเงินดังกล่าว จำเลยร่วมมีหน้าที่เพียงส่งเงินตามอายัดเท่านั้น ให้ยกคำร้อง
จำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมโดยมิได้ทำการไต่สวนให้สิ้นกระแสความก่อน ถือได้ว่ามิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 สมควรไต่สวนคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมต่อไปทำนองเดียวกับการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของโจทก์ พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้รับคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมไว้ดำเนินการไต่สวน แล้วพิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และคำร้องคัดค้านของโจทก์กับของจำเลยร่วมแล้ววินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกหนี้ตกลงยินยอมในการโอนด้วยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ย่อมโอนไปยังเจ้าหนี้คือผู้ร้องโดยสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 เงินที่ศาลสั่งอายัดตามคำร้องเป็นของผู้ร้อง โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้อายัดมีเหตุที่จะเพิกถอนการอายัดตามคำร้องได้ เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องกันโดยชอบแล้วจำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์ที่โอนอีกเป็นผลให้จำเลยร่วมไม่อาจใช้สิทธิตามสัญญาหมาย ร.3 ข้อ 14 ได้อีกต่อไป พิพากษาให้เพิกถอนการอายัดเงินจำนวน 777,890 บาท ตามคำร้องโดยให้จำเลยร่วมรับมาส่งมอบให้แก่ผู้ร้องตามสิทธิต่อไป
โจทก์และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยร่วมเป็นผู้ว่าจ้างตกลงจ้างจำเลยเป็นผู้รับจ้างทำการก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนใน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2528 ตามหนังสือสัญญาจ้างเอกสารหมาย ร.3และแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างหมาย ร.4 ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างทั้งหมด จำนวน3,234,218 บาท ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ร้อง ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินเอกสารหมาย ร.5 จำเลยและผู้ร้องได้บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินดังกล่าวไปยังจำเลยร่วมแล้วตามเอกสารหมาย ร.7 จำเลยร่วมได้แจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามเอกสารหมาย ร.8 ตามหนังสือสัญญาจ้างระหว่างจำเลยร่วมกับจำเลยตามเอกสารหมาย ร.3ได้ตกลงแบ่งการจ่ายเงินค่าจ้างออกเป็น 8 งวด ผู้ร้องได้รับเงินจากจำเลยร่วมไปแล้วรวม 6 งวดเป็นเงิน 2,118,360 บาท ครั้นจำเลยทำการก่อสร้างงานในงวดที่ 7 และงวดที่ 8 เสร็จและได้ส่งมอบงานแก่จำเลยร่วมแล้ว ผู้ร้องขอรับเงินงวดที่ 7 และงวดที่ 8 จากจำเลยร่วม แต่ไม่สามารถรับเงินได้เนื่องจากโจทก์ขออายัดเงินจำนวน 777,890 บาท ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมก่อนโดยจำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า เงินค่าจ้างที่ศาลแรงงานกลางสั่งอายัดจำนวน 777,890 บาท มิใช่ของโจทก์และของผู้ร้อง จำเลยร่วมใช้สิทธิหักเงินค่าจ้างจำนวนนี้จ่ายให้แก่ลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย ร.3 ข้อ 14 การได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวนั้น ผู้ร้องมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามสัญญาเท่ากับจำนวนค่าจ้างที่เหลือหลังจากจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิหักเงินค่าจ้างตามสัญญาแล้วสิทธิในการรับเงินมิได้โอนไปยังผู้ร้องทั้งหมด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจ้างงานก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนในระหว่างจำเลยร่วมผู้ว่าจ้างกับจำเลยผู้รับจ้าง เอกสารหมายร.3 มีความในข้อ 14 กำหนดว่า
"ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกค้าของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลาที่ผู้รับจ้างและลูกจ้างได้ตกลงหรือสัญญากันไว้
ถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคหนึ่งผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว ฯลฯ"
จากข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นที่แจ้งชัดว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างยินยอมให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างมีสิทธินำเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยไปจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างของจำเลยได้ในกรณีที่ปรากฏว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของจำเลยไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่งานก่อสร้างที่จำเลยร่วมประสงค์จะให้เสร็จไปโดยบริบูรณ์ภายในเวลาอันรวดเร็ว หรือให้ตรงกับเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาและเพื่อเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองลูกจ้างของจำเลยมิให้ต้องได้รับความเดือดร้อน หรือถูกเอาเปรียบโดยมิชอบ เมื่อจำเลยโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.5และผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย ร.7 ไปให้จำเลยร่วมทราบ จำเลยร่วมจึงมีหนังสือไปยังผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.8 ว่า "การสื่อสารแห่งประเทศไทย(จำเลยร่วม) พิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ธนาคารฯ (ผู้ร้อง) แจ้งมา แต่ธนาคารฯ (ผู้ร้อง) จะได้เงินค่าจ้างเพียงเท่าที่บริษัทการันต์วิศว์ จำกัด (จำเลย) จะพึงได้รับจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (จำเลยร่วม) ตามสัญญาจ้างที่ร.31/2528 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2528 เท่านั้น จึงเรียนมาเพื่อทราบ" ซึ่งเห็นได้ว่า แม้จำเลยร่วมจะได้แจ้งไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ผู้ร้องแจ้งมา แต่ในหนังสือของจำเลยร่วมก็ได้แสดงการอิดเอื้อนโดยแสดงเจตนาให้ความยินยอมให้ผู้ร้องได้รับเงินค่าจ้างในจำนวนเพียงเท่าที่จำเลยจะพึงมีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่า จำเลยร่วมได้โต้แย้งแสดงการสงวนสิทธิของจำเลยร่วมที่มีอยู่ตามสัญญาจ้างที่ ร.31/2528อันรวมถึงสิทธิของจำเลยร่วมตามข้อ 14 นั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308 สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่อาจเกินไปกว่าสิทธิที่จำเลยมีอยู่ตามสัญญาจ้าง จำเลยร่วมย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ตามสัญญาจ้างที่ตนมีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้โอนขึ้นต่อสู้กับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนได้ รวมทั้งสามารถใช้สิทธิเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าจ้างที่สงวนไว้ตามสัญญาจ้างดังกล่าวได้ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยผู้รับจ้างค้างจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยเป็นเงิน 777,890 บาท จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างย่อมใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง ข้อ 14 หักเงินจำนวนดังกล่าวจากค่าจ้างที่จำเลยร่วมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยไว้เพื่อนำจ่ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยร่วมได้ใช้สิทธิหักไว้นี้..."
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง