คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่นสร้าง แผ้วถางป่า ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองและบริวารของจำเลยทั้งสองออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้อง คดีถึงที่สุด แต่จำเลยทั้งสองและบริวารไม่ออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ จึงออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน และนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ จึงมีการออกหมายบังคับคดีขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวาร ซึ่งรวมถึงจำเลยทั้งสองและบริวารต้องรื้อถอนทรัพย์สินออกไปจากป่าหรือที่ดินที่ป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคดีนี้ฟังว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว การที่ผู้ร้องอ้างว่าสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ก็ชอบที่ผู้ร้องต้องใช้สิทธิของผู้ร้องตามที่กล่าวอ้าง ไม่อาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีอาญาและศาลพิพากษาแล้วว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสองครอบครองเป็นที่ดินของรัฐ จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินที่ผู้ร้องครอบครองอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้ผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ต้องออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยทั้งสองต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด อันทำให้รัฐได้รับคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่ผู้ร้องจะมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษได้นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ เมื่อได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ร้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากอธิบดี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน