โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 5,
81 (5), 152 ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า
จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 81 (5), 152 วรรคสี่
ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับคนละ 2,000,000 บาท
หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 แต่ทั้งนี้ให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2
ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษากลับ
ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1
จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือประมงชื่อ อ. ขนาด 721 ตันกรอส จำเลยที่ 2 และที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1
มอบอำนาจให้นายภาณุวัฒน์
เป็นผู้ดำเนินการเรื่องการทำประมงในทะเลหลวงกับกรมประมงแทน โดยเรือประมง อ.
ออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่
20 มีนาคม 2558 โดยก่อนเรือประมง อ. ออกจากท่าเรือไปทำการประมงนอกน่านน้ำได้ผ่านการตรวจจากหน่วยงานศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง
และกรมเจ้าท่าตามรายการเกี่ยวกับพาหนะ
บัญชีคนประจำพาหนะ และใบอนุญาตเรือออกจากท่า ต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ออกคำสั่งที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่
29 เมษายน 2558 จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการกระทำการประมงผิดกฎหมาย
เรียกโดยย่อว่า ศปมผ. ขึ้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558
มีการประชุมย่อยของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)
และสำนักเลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
ได้มีหนังสือแจ้งข้อสรุปไปถึงนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยว่า
เรือประมงนอกน่านน้ำที่ผ่านการตรวจก่อนออกเรือจากศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า
- ออก (PIPO) หรือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อนการจัดตั้งศูนย์
PIPO อย่างถูกต้อง ที่ออกไปทำการประมงยังไม่ถึงเวลา 1 ปี
(นับถึงวันที่ 15 มกราคม 2559) จะได้รับการอนุโลมไม่ต้องกลับเข้ามารับการตรวจ และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558
อธิบดีกรมประมงได้ออกประกาศกรมประมง เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาการกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงของเรือประมงพาณิชย์ (ฉบับที่
2) พ.ศ.2558 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 81
(5) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่
29 ธันวาคม 2558
ครบกำหนดที่เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สามสิบตันกรอสขึ้นไป
ซึ่งออกไปทำการประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำไทยในขณะที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายในสามสิบวัน กล่าวคือภายในวันที่ 27 มกราคม
2559 เรือประมง อ. กลับเข้าเทียบท่าเรือประมงจังหวัดสมุทรสาคร
โดยแจ้งต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออกในวันที่ 7 มีนาคม 2559
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
เห็นว่า ขณะเรือ อ. ของจำเลยทั้งสามออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำในมหาสมุทรอินเดีย
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ได้ผ่านการตรวจจากหน่วยงานศุลกากร
ตรวจคนเข้าเมือง และกรมเจ้าท่าถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ
โดยอธิบดีกรมประมงได้ออกหนังสือรับรองให้เรือ อ.
ออกไปทำการประมงในทะเลหลวงได้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม
2558 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ PIPO แต่ศูนย์ดังกล่าวเพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่
19 มิถุนายน 2558 หลังจากนั้น วันที่ 25 ธันวาคม 2558 อธิบดีกรมประมงจึงออกประกาศ
ฯ โดยข้อ 1 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่
30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยในขณะที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
(วันที่ 29 ธันวาคม 2558) นำเรือประมงกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายใน 30 วัน โดยในวรรคสองมิให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับเจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่ไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
ที่ได้แจ้งการออกจากท่าเทียบเรือประมงต่อศูนย์ PIPO ไว้ไม่เกินระยะเวลา 365 วัน นับแต่วันแจ้ง
ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน
และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตามข้อเสนอของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป
ที่เสนอว่า ประเทศไทยจะต้องทำการตรวจเรือประมงนอกน่านน้ำไทยทุกลำ
ดังนั้น ประกาศกรมประมงจึงเป็นแนวปฏิบัติใหม่ที่ออกมาช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติของผู้ประกอบอาชีพทำเรือประมงพาณิชย์
ส่งผลให้เกิดปัญหาในการตีความเกี่ยวกับกรณีเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป
ซึ่งได้ออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับว่า
จะต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายใน 30 วัน ตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง หรือเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามข้อ 1 วรรคสอง ของประกาศดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 25
ธันวาคม 2558 ศูนย์ ศปมผ. จึงมีการประชุมย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกรณีที่ยังคงมีเรือประมงอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังทำการประมงในมหาสมุทรอินเดียต่อไป โดยไม่มีการแจ้งกำหนดเดินทางกลับมารับการตรวจ
ผลการประชุมย่อยได้มีข้อสรุปว่า เรือประมงนอกน่านน้ำที่ผ่านการตรวจจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างถูกต้องก่อนการจัดตั้งศูนย์
PIPO และออกไปทำการประมงยังไม่ถึงเวลา 1 ปี
จะได้รับการอนุโลมให้ไม่ต้องกลับเข้ามารับการตรวจจากศูนย์ PIPO ซึ่งหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศปมผ.
ได้มีหนังสือแจ้งผลการประชุมย่อยดังกล่าวไปให้นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยทราบ
เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรับทราบ แม้โจทก์กล่าวอ้างว่า เอกสารฉบับนี้ไม่มีผลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นการออกโดยหน่วยราชการผู้รับผิดชอบ
อีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์แจ้งผ่านไปยังนายกสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย
ซึ่งในข้อนี้นายอภิสิทธิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย พยานจำเลยทั้งสามเบิกความว่า ในวันดังกล่าวพยานได้เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นประธาน
และประธานในที่ประชุมได้แจ้งให้ทราบว่า เรือที่ออกไปทำการประมงยังไม่ถึง 1 ปี
ได้รับการอนุโลมให้ยังไม่ต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่เข้าใจว่า กรณีของเรือ อ.
ยังไม่ต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือ จึงนำเรือดังกล่าวเข้าจอดเทียบท่าที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม
2559 ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันนำเรือออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมง
ในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี แม้ตามหนังสืออนุโลมของศูนย์ ศปมผ.
จะระบุไว้ในวงเล็บทำนองว่า อนุโลมให้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2559 แต่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า
อธิบดีกรมประมงอนุญาตให้เรือ อ. ออกไปทำการประมงได้ถึงวันที่ 10 กันยายน 2559
ดังนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมมีเหตุผลทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจว่า การนำเรือเข้าจอดเทียบท่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559
ยังอยู่ในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่ได้รับการอนุโลมจากศูนย์ ศปมผ. ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า
เรือประมงของจำเลยทั้งสามเป็นเรือขนาดใหญ่ถึง 721 ตันกรอส
การนำเรือออกไปทำการประมงและนำกลับเข้าท่าเทียบเรือต้องมีการแจ้งต่อทางราชการเป็นหลักฐานทุกครั้ง
อีกทั้งมีกำหนดระยะเวลากำกับไว้อย่างชัดเจน
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้
การฝ่าฝืนดังกล่าวมีโทษปรับตามพระราชกำหนดท่านการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 152 วรรคสี่
สูงถึง 2,000,000
บาท จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยทั้งสามจะจงใจฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการนำเรือเข้า ท่าเทียบเรือเกินกำหนดเวลาตามประกาศกรมประมง
ตามรูปคดีมีเหตุให้น่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสามเข้าใจโดยสุจริตว่า
ได้รับการอนุโลมให้นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงได้ภายใน 1 ปี
นับแต่วันที่นำเรือออกไปทำการประมง ดังนี้
ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสามขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานไม่นำเรือเข้า ท่าเทียบเรือประมงภายในกำหนดเวลาตามฟ้อง
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน