โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ , ๒๖๕ , ๒๖๖ , ๘๓ ,๙๐ , ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ ยกฟ้องความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ (๔) จำคุก ๑ ปี ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? ปัญหาประการที่สอง โจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า แม้ได้ความว่าจำเลยจะเป็นผู้ปลอมเช็คพิพาทแต่จำเลยยังมิได้นำเช็คพิพาทไปฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา โจทก์จึงยังไม่เสียหาย นั้น เห็นว่า เช็คคือหนังสือตราสารที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารใช้เงินแก่ผู้ทรงตามจำนวนและวันที่ระบุในเช็ค โดยสัญญาว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดและผู้ทรงได้นำไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารจะใช้เงินให้ ถ้าธนาคารไม่ใช้เงินผู้สั่งจ่ายจะเป็นผู้ใช้เงินให้แก่ผู้ทรงเอง การนำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินผู้ทรงจะต้องกระทำเสียภายใน ๑ เดือน กรณีเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค หรือ ๓ เดือน กรณีเช็คให้ใช้เงินที่อื่น มิฉะนั้นผู้ทรงจะเสียสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการละเลยไม่ยื่นเช็คนั้น และถ้าผู้ทรงยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันออกเช็ค ธนาคารไม่จำต้องใช้เงินให้แก่ผู้ทรง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๑๔ , ๙๘๗ , ๙๙๐ และ ๙๙๑ วันออกเช็คหรือวันที่สั่งจ่ายในเช็คจึงมีผลถึงความผูกพันของผู้สั่งจ่ายที่มีต่อผู้ทรง การที่จำเลยที่ ๑ แก้ไขวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจากวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ให้เป็นวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๙ แล้วนำเช็คพิพาทที่แก้ไขวันที่สั่งจ่ายแล้วดังกล่าวไปอ้างเป็นพยานในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้จากโจทก์ การกระทำจำเลยจึงเป็นการแก้ไขข้อความในตั๋วเงินที่แท้จริงเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงที่โจทก์ทำขึ้น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้รับความเสียหายแล้ว ไม่ว่าจำเลยที่ ๑ จะได้นำเช็คพิพาทไปฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาแล้วหรือไม่ก็ตาม โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน?
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้มีกำหนด ๒ ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ ๑ ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดทำนองนี้อีก กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด ๑๕ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.