โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ
พ.ศ.2507 มาตรา 4,
5, 6, 8, 9, 14, 25, 26/4, 26/5, 31 พระราชบัญญัติป่าไม้
พ.ศ.2484 มาตรา 4,
54, 55, 72 ตรี กับให้จำเลย
คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากที่ดินเขตป่าและป่าสงวนแห่งชาติ
พร้อมทั้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด
ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุภายในระยะเวลา 1 เดือน
กับให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย
สูญหายหรือเสียหายไปเป็นเงิน 4,824,182.64 บาท ให้แก่กรมป่าไม้
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า
จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 25 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 25), 26/4, 26/5, 31 วรรคสอง (ที่ถูก 31 วรรคสอง (เดิม))
พระราชบัญญัติป่าไม้
พ.ศ.2484 มาตรา 54 (ที่ถูก 54 วรรคหนึ่ง), 55,
72 ตรี วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 17,
31 วรรคสอง (ถูก 14, 31 วรรคสอง (เดิม))
ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี กับให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากที่ดินเขตป่าและป่าสงวนแห่งชาติ
พร้อมทั้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุภายในระยะเวลา
1 เดือน กับให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหาย 4,824,182.64 บาท ให้แก่กรมป่าไม้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค
6 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า
ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง
และแผ้วถางในที่ดินบริเวณป่าที่เกิดเหตุ โดยปลูกต้นยางพาราและปลูกบ้านพักอาศัย
1 หลัง คิดเป็นเนื้อที่ถึง 67 ไร่ 48 ตารางวา นับเป็นพื้นป่าจำนวนมาก
ถือได้ว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนใหญ่
นอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแล้ว
ยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ เป็นต้นเหตุให้ป่าไม้เสื่อมสภาพและมีจำนวนลดน้อยลง
ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางธรรมชาติโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ดังนั้น แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน
และมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวหรือเหตุผลความจำเป็นประการอื่น ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น
รวมทั้งข้ออ้างว่าจำเลยและบริวารจำเลยออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไปตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม
กรณียังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง
ปรากฏว่าคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 141 (4) (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ทั้งการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิได้สอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง
และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ
ฯ มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า
ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง
และพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6