โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2484 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าห้องแถวหมายเลข 933, 935, 937, 939, 941, 943 ของโจทก์โดยยอมเสียเงินกินเปล่าให้โจทก์ 23,000 บาท ค่าเช่าห้องละ 45 บาทต่อเดือน โดยโจทก์จะส่งมอบห้องให้จำเลยภายใน 45 วัน จำเลยได้ชำระเงินค่ากินเปล่าแล้ว 4,000 บาท และสัญญาว่าถ้าโจทก์ส่งมอบห้องให้จำเลยได้บ้างก่อนกำหนดเวลาแล้ว จำเลยจะใช้เงินกินเปล่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ค้างอยู่ ต่อมาในเดือนธันวาคม 2484 โจทก์ได้จุดการมอบห้องให้จำเลยได้ 2 ห้องคือหมายเลข 933, 935 จำเลยได้เข้าอยู่ตั้งแต่นั้นมา จำเลยได้ผ่อนชำระค่าเช่า 300 บาท ยังค้างอยู่2,220 บาท ส่วนเงินกินเปล่าอีกครึ่งหนึ่งคือ9,500 บาท จำเลยยังมิได้ชำระให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถาม จำเลยบิดพลิ้วไปต่าง ๆ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและบอกให้จำเลยชำระค่าเช่าและเงินกินเปล่าที่ค้างจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องขอเรียกพร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 9,500 บาท กับดอกเบี้ย
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาในข้อ 3 มีข้อความตอนหนึ่งว่า"ถ้านายฉอ้อนส่งห้องให้นายกุมารนายคู ได้บ้างก่อนเวลาดังกล่าวนายกุมารนายคู จะต้องจ่ายเงินให้นายฉอ้อนครึ่งจำนวนของเงินที่ค้างในข้อ 3" ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ส่งมอบห้องเลข 933, 935 ให้จำเลยก่อนกำหนด ซึ่งจำเลยได้เข้าอยู่ตลอดมา จำเลยจึงมีหน้าที่ตามสัญญาจะต้องจ่ายเงินกินเปล่าแก่โจทก์ อีกครึ่งหนึ่งคือ 9,500 บาท
ข้อที่จำเลยคัดค้านว่า การเรียกเงินกินเปล่า เป็นการขัดพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ 2488 มาตรา 10-11 นั้น เรื่องนี้มิได้เรียกเงินกินเปล่าอันเป็นการเพิ่มค่าเช่า จึงไม่ต้องห้าม
ข้อที่จำเลยอ้างว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วสัญญาย่อมสิ้นสุดลง โจทก์จะเรียกค่ากินเปล่าไม่ได้นั้นตามกฎหมายเมื่อเลิกสัญญากันแล้ว หน้าที่อันจะปฏิบัติไปตามสัญญานั้น เป็นอันระงับเลิกแต่สิทธิและหนี้ซึ่งบังเกิดหรือมีอยู่ตามสัญญานั้น จะต้องชำระแก่กันให้เสร็จนั้นไป เพื่อเข้าสู่สภาพเดิม
ส่วนข้อที่จำเลยค้านว่า ศาลชั้นต้นไม่สืบพยานจำเลยในข้อที่จำเลยต่อสู้ไว้ว่าโจทก์ไม่สามารถมอบห้องทั้ง 6 ห้องให้จำเลยภายในกำหนดนั้น ปรากฏว่าวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกะประเด็นให้สืบพยานเฉพาะเรื่องเงิน 300 บาท จำเลยหาได้โต้แย้งคำสั่งของศาลไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ไม่จำเลยจะมาโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ จึงพิพากษายืน