โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 5, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 92 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 09 – 3051 - XXXX ของกลาง นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 531/2562 (ที่ถูก อ. 534/2562) ของศาลชั้นต้น และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (3), 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 09 - 3051 - XXXX ของกลาง นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 531/2562 (ที่ถูก อ. 534/2562) ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ดาบตำรวจนพรัตน์ ให้สายลับติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายพฤหัส และจับกุมนายพฤหัสได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 404 เม็ด ดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย นายพฤหัสให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว ต่อมาจับกุมจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ หลังจากนั้นพันตำรวจโทจำรัส ดำเนินคดีแก่นายพฤหัส นายรัชชานนท์ และจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายพฤหัสแล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงิน จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผูกไว้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 09 - 4812 – xxxx ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผูกไว้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 09 - 3051 – xxxx
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า หลังจากนายพฤหัสถูกดาบตำรวจนพรัตน์จับกุมดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย นายพฤหัสให้การเกี่ยวกับเรื่องที่สายลับโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่นายพฤหัสไปยังบัญชีของจำเลยที่ 1 รวม 3 ครั้ง โดยครั้งแรกนายพฤหัสให้การในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 และครั้งที่ 2 กับครั้งที่ 3 ให้การในฐานะเป็นพยานและในฐานะเป็นผู้ต้องหาในข้อหาร่วมกันฟอกเงินเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 20 กันยายน 2562 ตามบันทึกคำให้การของพยานและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาซึ่งทั้งสามครั้งนายพฤหัสให้การมีใจความสอดคล้องตรงกันว่า วันเกิดเหตุสายลับโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่นายพฤหัสไปยังบัญชีของจำเลยที่ 1 จากนั้นนายพฤหัสโอนเงิน 11,000 บาท จากบัญชีของจำเลยที่ 1 ไปยังบัญชีของจำเลยที่ 2 เป็นค่าเมทแอมเฟตามีน แล้วจำเลยที่ 2 โอนเงิน 3,000 บาท จากบัญชีของจำเลยที่ 2 กลับคืนไปให้นายพฤหัสในบัญชีเดิมเพื่อเป็นค่าตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ส่วนนายรัชชานนท์ให้การ 2 ครั้ง ในฐานะเป็นพยานและในฐานะเป็นผู้ต้องหาในข้อหาร่วมกันฟอกเงินเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 และวันที่ 12 กันยายน 2562 ซึ่งทั้งสองครั้งนายรัชชานนท์ให้การมีใจความสอดคล้องตรงกันว่า วันเกิดเหตุมีการโอนเงิน 7,000 บาท เป็นค่าเมทแอมเฟตามีนไปยังบัญชีของนายรัชชานนท์เพื่อซุกซ่อนไว้ แล้วจำเลยที่ 2 จะไปเอาคืนในภายหลัง แต่นายรัชชานนท์ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวไปใช้จนหมดเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่พอใจ สำหรับคำให้การครั้งแรกของนายพฤหัสดังกล่าวนั้นส่งผลให้นายพฤหัสถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันฟอกเงินในเวลาต่อมา โดยเมื่อนายพฤหัสถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน นายพฤหัสให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว นอกจากนี้ยังได้ความว่า นายพฤหัสเกี่ยวพันเป็นพี่ชายของนายชยพล คนรักของจำเลยที่ 2 และนายรัชชานนท์เกี่ยวพันเป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่านายพฤหัสและนายรัชชานนท์ มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะให้การปรักปรำจำเลยที่ 2 หากไม่เป็นความจริง อีกทั้งนายพฤหัสให้การครั้งแรกในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย อันเป็นเวลาหลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน และในข้อหาร่วมกันฟอกเงินนายพฤหัสและนายรัชชานนท์ให้การอีกคนละสองครั้ง มีใจความสอดคล้องตรงกันว่า เงินที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้นายพฤหัสและนายรัชชานนท์เป็นเงินค่าเมทแอมเฟตามีน ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่เคยโต้แย้งมาก่อนเลยว่าการโอนเงินดังกล่าวเป็นการใช้หนี้ให้แก่บุคคลทั้งสอง ทั้งหากจำเลยที่ 2 เป็นหนี้นายพฤหัสและนายรัชชานนท์จริง ก็ไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องปกปิดข้อมูลจนทำให้จำเลยที่ 2 ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันฟอกเงินเช่นนี้ การที่นายพฤหัสและนายรัชชานนท์เพิ่งมาเบิกความกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนี้นายพฤหัสและนายรัชชานนท์จึงต้องโอนเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ที่ยืมคืนให้แก่บุคคลทั้งสองนั้น จึงน่าเชื่อว่า เป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 2 ให้พ้นผิดในคดีนี้เสียมากกว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของนายพฤหัสและนายรัชชานนท์จึงเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล และแม้ว่าคำให้การของนายพฤหัสและนายรัชชานนท์ในชั้นสอบสวนจะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ให้การเพื่อปัดความรับผิดของตน เพียงแต่ให้การในรายละเอียดที่ตนเองประสบมา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดแต่อย่างใดไม่ เพียงแต่จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ดังนี้ แม้ไม่มีพยานโจทก์ปากใดรู้เห็นขั้นตอนในการโอนเงินเข้าบัญชีของนายพฤหัสและนายรัชชานนท์ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อนำคำซัดทอดของนายพฤหัสและนายรัชชานนท์มารับฟังประกอบคำพยานโจทก์ปากดาบตำรวจนพรัตน์ผู้จับกุมดำเนินคดีแก่นายพฤหัสและจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษนายพฤหัสและจำเลยที่ 1 แล้ว และจากหลักฐานการโอนเงินทางบัญชีธนาคารที่ดาบตำรวจนพรัตน์ตรวจสอบมีความเชื่อมโยงถึงเรื่องการโอนเงินในวันเกิดเหตุสอดคล้องตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของนายพฤหัสและนายรัชชานนท์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกได้มา ครอบครอง และใช้เงินที่รับโอนมาจากนายพฤหัส โดยรู้ขณะที่ได้มา ครอบครอง และใช้เงินนั้นโดยรู้ว่าเป็นเงินเกี่ยวกับที่นายพฤหัสได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้รับโอนเงินดังกล่าวจากนายพฤหัสเพื่อชำระหนี้ค่าพนันฟุตบอลของนายชยพล และจำเลยที่ 2 ได้โอนเงินที่รับมาไปชำระหนี้ให้แก่นายรัชชานนท์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการยืมเงินดังกล่าวมาสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของนายพฤหัสและนายรัชชานนท์เป็นพยานซัดทอดของผู้กระทำความผิดด้วยกันจะรับฟังมาลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ นั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การซัดทอดของผู้กระทำความผิดด้วยกัน ทั้งตามคำให้การของนายพฤหัสและนายรัชชานนท์ที่ว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 2 มิได้เป็นการซัดทอดให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการซัดทอดนั้นแต่อย่างใด ทั้งยังมีพยานอื่นของโจทก์ประกอบ จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เพราะจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่ามีการโอนเงิน 11,000 บาท ไปยังบัญชีของตนจริง และจำเลยที่ 2 ได้โอนเงิน 3,000 บาท ไปยังบัญชีของจำเลยที่ 1 และโอนเงิน 7,000 บาท ไปยังบัญชีของนายรัชชานนท์จริง ย่อมเป็นคำรับที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล นั้น เห็นว่า เหตุบรรเทาโทษเพราะจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับข้อเท็จจริงนั้นจะต้องให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา การที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบหลักฐานการโอนเงินจากธนาคารเจ้าของบัญชีของจำเลยทั้งสองจนพบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 กับพวกคดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่เบิกความยอมรับถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ย่อมพิสูจน์ความผิดได้โดยง่าย การเบิกความยอมรับข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 2 เช่นนั้นไม่เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงไม่มีเหตุลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ลดโทษให้จำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน