โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงเรียนอาชีวะชื่อโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้โดยซื้อกิจการโรงเรียนพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างและที่ดินที่ตั้งโรงเรียนโฉนดเลขที่ 235, 34694, 34933, 34949, 36333 ถึง 36340 ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต รวม 12 แปลง มาจากบริษัทอมรินทร์อาชีวะภูเก็ต จำกัด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537 มีนายอิศนุวัฒน์ กรรมการผู้แทนบริษัทโจทก์เป็นผู้จัดการโรงเรียน จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินได้ยื่นคำขออายัดที่ดินโจทก์ดังกล่าวทั้ง 12 แปลง ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต นายมณฑล เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตในหน่วยงานสังกัดของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น มีคำสั่งอายัดที่ดินโจทก์ตามคำขอของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ได้สอบสวนให้รอบคอบก่อนมีคำสั่ง เป็นการละเมิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถนำโฉนดที่ดินไปทำนิติกรรมเพื่อนำเงินมาดำเนินกิจการของโรงเรียนได้ ต้องไปกู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาใช้เสริมสภาพคล่อง โจทก์ได้ทำหนังสือคัดค้านคำสั่งอายัด แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตเพิกเฉย จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานต้นสังกัดระดับกรมของนายมณฑล ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันฟ้องอีกวันละ 3,000 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเพิกถอนคำสั่งอายัด
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์และนางสุมณฑา ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จดทะเบียนกันซื้อกิจการโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ รวมทั้งที่ดินที่ตั้งโรงเรียน ต่อมาโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา จำเลยที่ 1 จึงได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1528/2541 ขอเลิกห้างหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชีและขออายัดที่ดินที่ตั้งโรงเรียนทั้ง 12 แปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อป้องกันผลประโยชน์และความเสียหายที่อาจได้รับ เป็นการกระทำโดยชอบและสุจริตและโจทก์ไม่ได้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายอิศนุวัฒน์ กรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทน นายอิศนุวัฒน์จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ และจำเลยที่ 2 ไม่มีข้อโต้แย้งกับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้อง โดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์กันฐานะใดกับนายมณฑล ที่ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วยเป็นฟ้องเคลือบคลุม การที่นายมณฑล เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งอายัดที่ดินโจทก์ตามคำขอของจำเลยที่ 1 เป็นการปฎิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนรอบคอบชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และค่าเสียหายก่อนฟ้องไม่เกิน 10,000 บาท ค่าเสียหายรายวันหลังฟ้องไม่เกินวันละ 15 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายอิศนุวัฒน์ และนางวิชนี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้โจทก์ประกอบกิจการโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ และมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตั้งโรงเรียนตามโฉนดที่ดินพิพาทรวม 12 แปลง โจทก์ และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนตามสัญญาหุ้นส่วนเอกสารหมาย จ.19 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขออายัดที่ดินพิพาททั้ง 12 แปลง ตามคำขออายัดเอกสารหมาย จ.22 หรือ ล.1 นายมณฑล เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาททั้ง 12 แปลง ไว้มีกำหนด 60 วัน และแจ้งคำสั่งอายัดให้โจทก์ทราบ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.25 หรือ ล.2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กับนายมณฑลทำละเมิดต่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เห็นว่า ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องร้องให้บังคับให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 วรรคหนึ่ง หมายถึงผู้ที่จะได้ประโยชน์ตามสิทธิใดๆ ของตนในที่ดินนั้นและอาจจะฟ้องร้องให้บังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินได้ตามสิทธิใดๆ ที่ตนมีอยู่ และอาจจะเสียประโยชน์ในที่ดินหากมีการจดทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนอย่างหนึ่งอย่างใดในที่ดินนั้นก่อนที่จะไปฟ้องร้องให้บังคับให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนตามสิทธิของตน ผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิขออายัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าวจึงไม่จำต้องเป็นผู้มีสิทธิเสมือนหนึ่งผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 และไม่จำต้องมีส่วนได้เสียผูกพันกับที่ดินโดยตรงทั้งไม่จำต้องฟ้องร้องเอาที่ดินเป็นของตนเอง หรือฟ้องร้องให้ศาลบังคับให้ทำการจดทะเบียน หรือให้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนโดยตรง และคำพิพากษาก็ไม่จำต้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนโดยตรงตามที่โจทก์ฎีกา หากคำขอและผลของคำพิพากษานั้นบังคับให้กระทำการใดอันจะนำไปสู่การจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในที่ดินที่ขออายัดแล้ว ก็ย่อมอยู่ในบังคับบทบัญญัติตามมาตรา 83 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่ว่า อันอาจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน" ในกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องนำเงิน ทรัพย์สินหรือแรงงานมาลงหุ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1026 ส่วนกำไรก็ดี ส่วนขาดทุนก็ดีของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนย่อมเป็นไปตามส่วนที่ลงหุ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1044 เมื่อหุ้นส่วนเลิกกันและมีการชำระบัญชีจะต้องนำสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนมาชำระหนี้ค้างชำระแก่บุคคลภายนอก ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้างและคืนทุนทรัพย์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น ถ้ายังมีทรัพย์สินอยู่อีกเท่าไร ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1062 ดังนั้น การฟ้องร้องขอให้เลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชี ผลของคำพิพากษาที่ให้เลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีจึงอาจมีผลให้ต้องมีการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินอันเป็นสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและคำพิพากษานั้นเอง ผู้เป็นหุ้นส่วนจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขออายัดที่ดินของห้างหุ้นส่วนเพื่อไปฟ้องร้องขอให้เลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชีได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับกันว่า โจทก์ทำสัญญาหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 และนางสุมณฑาภริยาของจำเลยที่ 1 ตาม สัญญาหุ้นส่วนเอกสารหมาย จ.19 ตามพฤติการณ์ที่โจทก์ยินยอมให้นางสุมณฑาดูแลวางระบบและตรวจสอบบัญชีโดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินโรงเรียนไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยระบุในหนังสือมอบอำนาจว่าจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วน และโจทก์เคยทำหนังสือให้นางสุมณฑาตรวจสอบบัญชีโรงเรียนโดยระบุว่านางสุมณฑาเป็นหุ้นส่วนทั้งนางสุมณฑาก็ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีแก่นางสาววิลาวรรณครูคนหนึ่งในโรงเรียนที่มีหลักฐานว่าทุจริตในฐานะเป็นหุ้นส่วน พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 กับภริยาที่แสดงออกต่อกันและต่อบุคคลภายนอกบ่งชี้ว่าเป็นหุ้นส่วนและสมัครใจที่จะผูกพันกันในฐานะหุ้นส่วนตามสัญญาหุ้นส่วนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งและมีสิทธิต่างๆ ในฐานะเป็นหุ้นส่วน แม้ว่าผลของคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องเลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชีนั้นจะพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 จะเป็นหุ้นส่วนหรือไม่ก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 ไปขออายัดที่ดินพิพาทอันเป็นสินทรัพย์ของหุ้นส่วนไว้ก่อนเพื่อไปฟ้องร้องให้เลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชี จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินทรัพย์ของหุ้นส่วนโดยสุจริตและมีเหตุสมควรถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่อตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ตามคำขออายัดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.22 จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อกิจการโรงเรียนและที่ดินพิพาท ประสงค์จะขออายัดที่ดินพิพาทเพื่อไปฟ้องร้องเลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชี โดยแนบสัญญาหุ้นส่วนมาด้วย เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรับคำขออายัดแล้วมีการตรวจสอบคำขอและหลักฐานสัญญาหุ้นส่วนแล้ว หลักฐานและการสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นย่อมเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนและประสงค์จะฟ้องเลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชี จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 ที่จะขออายัดได้ และมีการทำความเห็นขึ้นมาตามลำดับชั้น นายมณฑลเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต จึงได้รับอายัดที่ดินพิพาทไว้ตามความเห็นดังกล่าวมีกำหนด 60 วัน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า นายมณฑลรับอายัดโดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องเสียหายแต่อย่างใดข้อเท็จจริงถือมิได้ว่านายมณฑลทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้ออื่นๆ ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา"
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้