โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 66,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 64,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 64,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,000 บาท กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด โจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทน พิเคราะห์แล้วอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ผู้ร้อง เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ในชั้นฎีกาตามคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ปน 5771 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2546 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2547 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ค - 2998 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้รถคันดังกล่าวพุ่งชนรถแท็กซี่ หมายเลขทะเบียน มค 6436 กรุงเทพมหานคร และรถตู้หมายเลขทะเบียน อย 138 กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ด้านหน้า ทำให้รถที่ถูกชนได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่า ขับรถในขณะเมาสุรา โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไป 64,000 บาท คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตาม คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 เมาสุรา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้นั้น ในข้อนี้โจทก์มีนายวิริทธิพล เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยด้วยความเร็วสูงในขณะที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดถึง 188 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และจากสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ระบุว่าพนักงานสอบสวนสังเกตว่าจำเลยที่ 1 มีอาการคล้ายเมาสุราจึงทำการทดสอบพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงแจ้งข้อหาว่าเป็นผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและในวันสืบพยานก็มิได้มาถามค้านเพื่อให้ฟังเป็นอย่างอื่น ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีมูลฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 8 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้ พิเคราะห์เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยข้อดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามเงื่อนไขข้อดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์