โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางทศพร ภริยานายธีระวัฒน์ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 3,966,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3) (4) (6), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งไม่แสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยชำระเงิน 360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2553) (ที่ถูก วันที่ 27 พฤษภาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม คำขออื่นให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 5,000 บาท และฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 5,000 บาท รวมปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินอื่นของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งไม่แสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายให้จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 5,000 บาท และฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 5,000 บาท รวมปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้คุมความประพฤติ 1 ปี ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละฐานความผิดไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยประมาทฝ่ายเดียว ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาจึงมีอำนาจจัดการแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตา 5 (2) พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ล้วนแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษ จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมมานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ผู้ตายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ในคดีนี้ย่อมเป็นอันตกไป กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวเอากับจำเลยเป็นคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม และยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม