ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีภาษี, การยกเว้นภาษีทรัพย์สินของรัฐ, การตีความสัญญาเช่า, และการห้ามอุทธรณ์ประเด็นใหม่
โจทก์บรรยายฟ้องในตอนต้นว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามกฎหมายอื่นบรรดาที่เรียกเก็บสำหรับอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย นอกจากอาคารและที่ดินที่ให้เช่า ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ซึ่งมาตรา 31 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ระบุว่า เฉพาะกรณีที่ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้มีจำนวนสูงเกินสมควรเท่านั้น จึงให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ แต่กรณีนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงไม่ใช่กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามมาตรา 31 วรรคท้าย การท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนการท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้
สัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเทียบเรือบี 2 นอกจากมีข้อสัญญาอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งข้อความตามสัญญาและภาคผนวกล้วนแสดงให้เห็นว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยยอมให้โจทก์ใช้ทรัพย์สินและโจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษากับเอาประกันภัยทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์และยังมีการกำหนดค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยตามรายละเอียดในภาคผนวก บี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่ตามที่ระบุไว้เป็นตัวเลขค่าธรรมเนียมแน่นอนสำหรับปีที่ 1 ถึงปีที่ 12 ของการเช่า ค่าธรรมเนียมผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมคิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องรับกันกับข้อสัญญาการชำระค่าเช่าตามข้อ 3.2 อันแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์เป็นเช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าทรัพย์ และแม้การชำระเงินเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์ได้รับสิทธิตามสัญญานี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่และค่าธรรมเนียมผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมที่คิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาคผนวก บี ซึ่งอาจมีบางส่วนที่คิดเป็นค่าตอบแทนในการให้สิทธิโจทก์ได้เข้าดำเนินการท่าเรือเพื่อแสวงหากำไรเป็นของโจทก์ได้ก็ตาม แต่ก็มีค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่ซึ่งอย่างน้อยย่อมคิดในลักษณะเป็นค่าเช่าเป็นผลตอบแทนจากที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าท่าเทียบเรือบี 2 ด้วย ย่อมแสดงว่าสัญญาระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับโจทก์แม้จะมีข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง แต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยคิดผลตอบแทนที่ถือเป็นค่าเช่าด้วยย่อมถือได้ว่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังกล่าวนี้เป็นอาคารและที่ดินที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 17 ตอนท้าย ซึ่งเป็นบทยกเว้นความตอนต้นของมาตรานี้ จึงมีผลให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ท่าเทียบเรือบี 2 เป็นทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของสาธารณะโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 นั้น โจทก์มิได้ฟ้องประเด็นนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง เป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ภาษีที่จำเลยที่ 1 ประเมินมานั้นสูงเกินส่วนเนื่องจากสูตรในการคำนวณไม่สอดคล้องกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน เนื่องจากมิได้คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินประเภทโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างในสัดส่วนที่ใช้ประโยชน์จริง ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินไว้ และจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดนั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ดังนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงต้องนำเรื่องที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาด เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 และในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีได้ตามมาตรา 31 วรรคท้าย เมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อนี้เช่นเดียวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย